สาร alkaloid ในใบหอมแขก (Murraya koenigii ) ช่วยต้านความจำที่ลดลงเนื่องมาจากความชรา

การศึกษาผลของสาร alkaloid ที่สกัดจากใบหอมแขก (MKA) ต่อการจำของหนูเม้าส์ โดยทดลองในหนูเม้าส์ 2 กลุ่ม คือหนูกลุ่มอายุน้อย 3-4 เดือนและหนูกลุ่มอายุมาก 12-15 เดือน ในหนูกลุ่มอายุน้อยถูกทำให้ประสิทธิภาพของการเรียนรู้และการจดจำลดลง โดยการฉีด scopolamine ขนาด 0.4 มก./กก. หรือ diazepam ขนาด 1 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนู หลังจากนั้นหนูเม้าส์ทุกกลุ่มจะได้รับการป้อนสาร MKA ขนาด 10, 20 และ 30 มก./กก. แล้วทดสอบประสิทธิภาพในการเรียนรู้และจดจำ ดังนี้ ทดสอบความจำระยะสั้นจากการสำรวจช่องกล (วิธี elevated plus-maze) และทดสอบความจำระยะยาวจากการหลบเลี่ยงอันตราย (วิธี passive avoidance task) พบว่าหนูกลุ่มอายุมาก และหนูกลุ่มอายุน้อยที่ได้รับสาร scopolamine หรือ diazepam มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้และความจำลดลงกว่าหนูกลุ่มอายุน้อยที่ไม่ได้รับสารใด สาร MKA ขนาด 20 และ 30 มก./กก. เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการจดจำทั้งความจำระยะสั้น และความจำระยะยาวทั้งในหนูกลุ่มอายุน้อยและหนูกลุ่มอายุมาก โดยสาร alkaloid จากใบหอมแขกออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ cholinesterase และการศึกษาในหลอดทดลองยังพบว่า MKA ยับยั้งการทำงานของ beta-secretase 1 (BACE1) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำให้เกิดการสะสมของ amyloid beta โดยมีความเข้มข้นที่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ BAEC1 ได้ 50% (IC50) เท่ากับ 1.7 มคก./มล. สรุปได้ว่า สาร alkaloid จากใบหอมแขกมีฤทธิ์เพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำของหนูเม้าส์ ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นยาเพื่อรักษาอาการหลงลืมเนื่องมาจากความชราและโรคอัลไซเมอร์ได้

Food and Chemical Toxicology 2012;50:1036-44