ฤทธิ์ปกป้องระบบประสาทของสารสกัดจากชั่งชิก

การศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากชั่งชิก (panax notoginsenoside; PNS) ในหนูแรทที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บประสาทไขสันหลังโดยใช้คีมหนีบหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาไว้ 30 นาที แล้วเอาออก (spinal cord ischemia-reperfusion injury (SCII)) หนูแรทจะได้รับ PNS หรือยา methylprenisolone ซึ่งเป็นยากลุ่ม corticosteroid ขนาด 30 มก./กก. ฉีดเข้าทางช่องท้องก่อนการขาดเลือด 30 นาที ผลการสอบการเคลื่อนไหว (locomotion) โดยให้คะแนนตาม Basso, Beattie and Bresnahan locomotor ที่เริ่มจาก 0 คะแนนไม่สามารเคลื่อนไหวร่างกายได้เลย (complete paralysis) ถึง 21 คะแนนจะมีการเคลื่อนไหวปกติ พบว่ากลุ่ม SCII มีคะแนนลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่มีการบาดเจ็บของไขสันหลัง ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับ PNS หรือ methylprenisolone มีคะแนนเพิ่มขึ้น ในหนู SCII มีเลือดออก (hemorrhage) กระจายเป็นหย่อมๆ อยู่ทั่วไปทั้งเนื้อเยื่อสีเทาและขาวในไขสันหลัง (gray และ white matter) ซากเซลล์ตาย เกิดปฏิกิริยาการตอบสนองของเซลล์ค้ำจุนประสาท (reactive glial cells) เกิดการตายของเซลล์แบบ apoptosis และจำนวนเซลล์ประสาทลดลง นอกจากนี้ระดับ IL-1β, IL-10, TNF-α และการแสดงออกของ aquaporin-4 (AQP-4) ในเนื้อเยื่อสีเทาและขาวในไขสันหลังเพิ่มขึ้น ในขณะที่หนูที่ได้รับ PNS หรือ methylprenisolone พบว่าจำนวนเซลล์ค้ำจุนประสาท เพิ่มขึ้น และการแสดงออกของ AQP-4 ลดลง ซึ่งแสดงถึงฤทธิ์ในการลดบวมของ PNS ระดับ IL-1β, IL-10 และ TNF-α ลดลง แสดงถึงการต้านการอักเสบ และการตายแบบ apoptosis ของเซลล์ประสาทในไขสันหลังลดลง สรุปได้ว่า สารสกัดจากจากชั่งชิกปกป้องระบบประสาทได้โดยการออกฤทธิ์ต้านการบวมและต้านการอักเสบในประสาทไขสันหลังของหนูแรทที่ได้รับการบาดเจ็บจากการขาดเลือด ซึ่งสารสกัดจากชั่งชิก (panax notoginsenoside; PNS) ประกอบด้วยสารสำคัญคือ ginsenoside Rb1 29.89%, Rg1 20.46%, Rd 7.96%, Re 6.83% และ notoginsenoside R1 2.74%

J Ethnopharmacology 2011;139:504-12