ฤทธิ์ของต้นโบราจต่อการต้านอนุมูลอิสระ ต้านความชรา และต้านอักเสบของผิวหนัง ในหลอดทดลอง

การทดสอบวิเคราะห์สารประกอบฟีนอลิก (phenolic) และฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเมทานอลและสารสกัดน้ำ-เมทานอล (70:30) จากส่วนเหนือดินของต้นโบราจ (Borago officinalis; borage) ที่ผ่านกระบวนการทำให้แห้งด้วยวิธีต่างกัน ทำการวิเคราะห์สารเชิงคุณภาพและปริมาณของสาร 12 ชนิด ประกอบด้วย สารฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ได้แก่ astragalin, kaempferol 4-glucoside, rutoside และ vitexin และกรดฟีนอลิก (phenolic acids) ได้แก่ caffeic, chlorogenic, 3,4-dihydroxyphenylacetic, ferulic, p-hydroxybenzoic, protocatechuic, rosmarinic และ syringic ด้วยเทคนิคโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูงที่มีการตรวจวัดสัญญาณด้วยไดโอดอะเรย์ (high-performance liquid chromatography with diode-array detection; HPLC-DAD) พบสารฟลาโวนอยด์ทั้งหมดสูงสุดจากสารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดินของต้นโบราจที่อบแห้งด้วยลมร้อนอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส (hot-air-dried herb) ในขณะที่สารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดินของต้นโบราจที่ทำให้แห้งในห้องที่ระบายอากาศมีอุณหภูมิ 20 - 22 องศาเซลเซียส (air-dried herb) พบกรดฟีนอลิกมากที่สุด และจากการทดสอบในเซลล์ผิวหนัง human keratinocytes (HaCaT) และ fibroblasts ในหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ลดระดับอนุมูลอิสระภายในเซลล์ และพบว่ามีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบจากการทดสอบการยับยั้งการเสียสภาพของโปรตีน (protein denaturation) การทำงานของเอนไซม์ lipoxygenase และ proteinase นอกจากนี้สารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดินของต้นโบราจที่ทำให้แห้งด้วยเตาอบลมร้อนมีฤทธิ์สูงสุดในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ collagenase และ elastase ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการต้านความชราของเซลล์ จากผลการทดสอบสารสกัดจากส่วนเหนือดินของต้นโบราจประกอบด้วยสารสำคัญที่มีฤทธิ์ในการปกป้องเซลล์ผิวหนัง อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

Molecules. 2023;28(2):868. doi: 10.3390/molecules28020868.