ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของตำรับยาเลือดงาม และส่วนประกอบในตำรับ

ตำรับยาเลือดงาม เป็นยาที่ใช้ในการรักษาอาการปวดเวลามีประจำเดือนของเพศหญิง (ประกอบด้วย หัวกระเทียม เมล็ดเร่ว โกฐจุฬาลำพา (ทุกส่วน) เหง้ากระชาย ใบมะนาว ผิวมะกรูด ตะไคร้หอม (ทุกส่วน) รากชะเอมเทศ สะระแหน่ (ทุกส่วน) เมล็ดจันทน์เทศ ใบกะเพรา เปลือกเพกา เมล็ดพริกไทย ดอกดีปลี ช้าพลู (ทุกส่วน) รากเจตมูลเพลิงแดง ดอกกานพลู เหง้าไพล เหง้าขิง เหง้ากะทือ) เมื่อนำตำรับยา และส่วนประกอบในตำรับมาสกัดโดยการหมักด้วย 95% เอทานอลและการต้มน้ำ หลังจากนั้นนำสารสกัดทั้งหมดมาทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยการยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH radical scavenging assay พบว่าสารสกัดเอทานอลของพริกไทย ขิง มะกรูด และตำรับยาเลือดงามมีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยมีค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 1.31 ± 0.42, 2.87 ± 0.31, 3.03 ± 3.27 และ 28.18 ± 4.63 มคก./มล. ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสารมาตรฐานคือ Indomethacin ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (IC50) เท่ากับ 25.04 ± 3.79 มคก./มล. สำหรับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระพบว่าสารสกัดเอทานอลของกานพลู เพกา และขิง ซึ่งเป็นส่วนประกอบในตำรับมีฤทธิ์ดีกว่าสารมาตรฐาน Butylated hydroxytoluene (BHT) โดยมีค่าความเข้มข้นที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ครึ่งหนึ่ง (EC50) เท่ากับ 9.20 ± 0.29, 9.94 ± 0.91, 14.34 ± 0.28 และ 15.84 ± 1.42 มคก./มล. ตามลำดับ ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าตำรับยาเลือดงาม และสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบในตำรับมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระได้ จึงเป็นข้อมูลสนับสนุนการใช้ยาไทยและสมุนไพรได้ต่อไป

Thammasat Medical Journal 2015;15(3):376-83.