ผลของสารสกัดเมล็ดองุ่นต่อความดันโลหิตในผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง

การศึกษาแบบสุ่มและปกปิดทั้ง 2 ฝ่าย ในผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นความดันโลหิตสูง (ความดันโลหิตช่วงบน 120-139 มม.ปรอท ความดันโลหิตช่วงล่าง 80-89 มม.ปรอท) ทั้งชาย และหญิงจำนวน 28 คน ทุกคนจะได้รับเครื่องดื่มที่เป็นยาหลอกก่อน 2 สัปดาห์ จากนั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มที่เป็นยาหลอกต่อไปอีก จำนวน 16 คน ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มที่มีสารสกัดจากเมล็ดองุ่น 300 มก./วัน (แบ่งรับประทานครั้งละ 150 มก. วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น) นาน 4 สัปดาห์ โดยวัดความดันโลหิตก่อนเริ่มการศึกษา และในสัปดาห์ที่ 6 และ 10 ของการศึกษา และเจาะเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาล ระดับอินซูลินในเลือด ก่อนเริ่มการศึกษา และในสัปดาห์ที่ 3, 6 และ 10 ของการศึกษา พบว่ากลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มที่มีสารกัดจากเมล็ดองุ่นความดันโลหิตช่วงบนลดลง 5.6% ความดันโลหิตช่วงล่างลดลง 4.7% หลังสัปดาห์ที่ 6 ของการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มที่เป็นยาหลอก และความดันโลหิตจะกลับสู่สภาวะปกติเท่ากับตอนเริ่มการศึกษาเมื่อไม่ได้รับเครื่องดื่มที่มีสารสกัดจากเมล็ดองุ่นติดต่อกันนาน 4 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงที่ได้รับเครื่องดื่มที่มีสารสกัดจากเมล็ดองุ่น ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และลดภาวะดื้อต่ออินซูลินด้วย แต่หากไม่ได้รับเครื่องดื่มที่สารสกัดเมล็ดองุ่นติดต่อนาน 4 สัปดาห์ ระดับน้ำตาลในเลือด ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ก็จะเข้าสู่สภาวะปกติเท่ากับก่อนเริ่มการศึกษา การศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า เครื่องดื่มที่มีสารสกัดจากเมล็ดองุ่นสามารถลดระดับความดันโลหิตในผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง และค่อนข้างปลอดภัย

British Journal of Nutrition 2016;115:226-38.