คำถาม : ปริมาณสารสกัดทั้งหมด กับ extractive value
  • ปริมาณสารสกัดทั้งหมด กับ extractive value ต่างกันยังไงคะ วิธีคำนวณด้วยค่ะ
  • Date : 31/1/2567 17:04:00
คำตอบ : หากหมายถึงสารสกัดจากสมุนไพร คำถามข้างต้นจะอยู่ในหมวดของ “การประเมินคุณภาพยาสมุนไพร” หรือ “ข้อกำหนดมาตรฐานวัตถุดิบสมุนไพร” ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ถูกระบุอยู่ในเภสัชตำรับของประเทศต่าง ๆ เช่น British Pharmacopoeia, Thai Herbal Pharmacopoeia เพื่อใช้ควบคุมมาตรฐานของสมุนไพรแต่ละชนิด โดยทั่วไปจะประกอบด้วย ลักษณะทั่วไปของสมุนไพร, การตรวจสอบเอกลักษณ์ (เอกลักษณ์ทางเภสัชเวท และ เอกลักษณ์ทางเคมี), สิ่งแปลกปลอม, ความชื้น, เถ้ารวม, เถ้าที่ไม่ละลายในกรด, สารสกัดด้วยตัวทำละลาย, สารสำคัญ/สารออกฤทธิ์, การปนเปื้อนด้วยจุลินทรีย์, และการปนเปื้นสารพิษ

สำหรับคำว่า “extractive value” คาดว่ามาจากคำว่า “solvent extractive values” ซึ่งก็คือปริมาณสารที่สกัดได้จากตัวทำละลายแต่ละชนิด เช่น น้ำ เอทานอล เฮกเซน และคลอโรฟอร์ม โดยปริมาณของสารสกัดจะได้มาจากการชั่งน้ำหนัก ทั้งนี้ ชนิดและปริมาตรของตัวทำละลายที่ใช้ น้ำหนักผงสมุนไพร และวิธีและระยะเวลาการสกัดพืชแต่ละชนิด จะถูกระบุอยู่ในเภสัชตำรับนั้น ๆ ปริมาณ extractive value ตามที่ระบุในเภสัชตำรับ คำนวณได้จากสูตร extractive value = [(น้ำหนักของสารที่สกัดได้ x ปริมาตรสารสกัดทั้งหมด)/(ปริมาตรสารสกัดที่นำไปทำให้แห้ง x น้ำหนักวัตถุดิบที่ใช้)] x100 หน่วยที่ใช้คือ %w/w ซึ่งหมายถึงร้อยละของน้ำหนักสารสกัดแห้ง (ที่ทำให้แห้งบนหม้ออังไอน้ำและอบจนน้ำหนักคงที่) ต่อน้ำหนักผงสมุนไพร ตัวอย่างเช่น ข้อกำหนดคุณภาพของสมอไทยใน Thai Herbal Pharmacopoeia 2021 ระบุว่า Ethanol-soluble extractive: Not less than 20.0 per cent w/w หมายถึง เมื่อสกัดสมุนไพรด้วยเอทานอล สารสกัดที่ได้ต้องมีปริมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักสมุนไพร นั้นคือ หากนำผงแห้งของผลสมอไทยหนัก 100 กรัม มาสกัดด้วยเอทานอลตามวิธีที่ระบุในเภสัชตำรับ สารสกัดที่ได้ต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 20 กรัม

ส่วนคำว่า“ปริมาณสารสกัดทั้งหมด” ต้องมีการระบุว่าเป็นใช้ตัวทำละลายชนิดใดในการสกัด เช่น ถ้าใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย ก็จะเรียกว่าสารสกัดน้ำ (water extract หรือ aqueous extract) ถ้าใช้เมทานอลเป็นตัวทำละลาย ก็จะเรียกว่าสารสกัดเมทานอล (methanol extract) โดยปริมาณของสารสกัดจะได้มาจากการชั่งน้ำหนักเช่นกัน อย่างไรก็ตาม วิธีการสกัดจะมีผลต่อปริมาณสารสกัดที่ได้ แม้จะใช้ตัวทำละลายชนิดเดียวกัน แต่ถ้าใช้วิธีการสกัดที่ต่างกัน ก็จะทำให้ได้ปริมาณสารสกัดไม่เท่ากัน ในเภสัชตำรับจึงต้องระบุวิธีการสกัดเอาไว้ ซึ่งปริมาณสารสกัดทั้งหมดอาจหมายถึงปริมาณสารสกัดที่สกัดได้หลังระเหยตัวทำละลายออกหมดแล้ว และสามารถคำนวณเป็น %yield crude extract โดยสามารถคำนวณได้จากสูตร %yield = [น้ำหนักของสารที่สกัดได้ /น้ำหนักวัตถุดิบที่ใช้] x 100 หน่วยที่ใช้คือ %w/w เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานสมุนไพรมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือ “ยาและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ” และ Thai Herbal Pharmacopoeia ซึ่งมีให้บริการในห้องสมุดของทางสำนักงานฯ และในห้องสมุดของคณะเภสัชศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ค่ะ โดยห้องสมุดของทางสำนักงานฯ เปิดให้บริการในวันและเวลาราชการค่ะ