คำถาม : วิธีสกัดมะเขือเทศ
  • ช่วยแนะนำวิธีสกัดมะเขือเทศ
  • Date : 30/1/2567 18:46:00
คำตอบ : การสกัดมะเขือเทศสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการทำไปใช้ค่ะ สำหรับวิธีสกัดมะเขือเทศอย่างง่าย ๆ สามารถทำได้โดยนำมะเขือเทศสด หรือมะเขือเทศปรุงสุก มาปั่นด้วยเครื่องปั่นน้ำผลไม้ หรือใช้วิธีบดให้ละเอียด โดยอาจเติมน้ำเล็กน้อย จากนั้นนำมากรองด้วยผ้าขาวบางแล้วจึงนำส่วนที่กรองได้ไปใช้ สารสกัดที่ได้ควรใช้ให้หมดในครั้งเดียว หรือเก็บแช่ตู้เย็นไว้ใช้ได้ไม่เกิน 7 วันค่ะ ซึ่งการต้มหรือการทำให้มะเขือเทศสุกด้วยความร้อน จะทำให้ได้สารไลโคพีนซึ่งเป็นสารสำคัญในมะเขือเทศมากกว่าการใช้มะเขือเทศสด การสกัดด้วยวิธีนี้เป็นการสกัดโดยใช้ความร้อนและน้ำ ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยสารสกัดที่ได้สามารถรับประทานได้ แต่จะได้ปริมาณสารไลโคพีนน้อยกว่าวิธีการสกัดผลมะเขือเทศอบแห้งด้วยตัวทำละลายอินทรีย์เช่น hexane, ethyl acetate หรือ acetone ซึ่งจะสามารถละลายสารไลโคพีนได้ดีกว่า แต่ก่อนจะนำสารสกัดที่ได้ไปใช้ ต้องระเหยตัวทำละลายออกก่อนโดยใช้เครื่องมือเฉพาะในห้องปฏิบัติการ เนื่องจากตัวทำละลายมีความเป็นพิษ อย่างไรก็ตามการสกัดมะเขือเทศสำหรับใช้เป็นองค์ประกอบในเครื่องสำอางนิยมสกัดด้วย propylene glycol, glycerin หรือแอลกอฮอล์ ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า

สำหรับการสกัดผลมะเขือเทศ เพื่อให้ได้สารไลโคพีนในปริมาณสูงมักจะใช้วิธีสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์และต้องทำในห้องปฏิบัติการ หรือในระดับอุตสาหกรรมนิยมสกัดด้วยวิธี Supercritical Fluid Extraction (SFE) ซึ่งจะใช้เครื่องมือเฉพาะและมีค่าใช้จ่ายสูง และหากต้องการทราบปริมาณสารสำคัญในสารสกัด ต้องส่งตรวจในห้องปฏิบัติการซึ่งมีค่าใช้จ่ายเช่นกัน โดยท่านสามารถสอบถามรายละเอียดและอัตราค่าบริการได้ที่ศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ฯ (ฝ่ายสมุนไพร) โทร: 096-812-3539 อีเมล์: mucapqnp@gmail.com

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการสกัดสารไลโคพีนจากมะเขือเทศมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ท่านสามารถสืบค้นได้จากรายงานการวิจัยในฐานข้อมูลทางวิชาการต่าง ๆ หรือติดต่อที่สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือทางโทรศัพท์ : 0-2354-4327 หรือ 095-514-8892 ในวันและเวลาราชการ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการสืบค้นข้อมูลค่ะ