คำถาม : สารสกัดใบบัวบก
  • อยากทราบวิธีการสกัดสารจากใบบัวบกไม่ให้เป็นพิษต่อเซลล์เยื่อบุช่องปาก
  • Date : 31/12/2566 10:26:00
คำตอบ : จากการสืบค้นข้อมูลมีตัวอย่างงานวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดมาตรฐานบัวบก ECa 233 ที่ผ่านการควบคุมมาตรฐานของปริมาณสารออกฤทธิ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดของคณะผู้วิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สารสกัดมาตรฐานบัวบกดังกล่าวมีความปลอดภัยในการใช้ และไม่แสดงความเป็นพิษทั้งแบบเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรังในหนูทดลอง จากผลการวิจัยทางคลินิกเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ในช่องปากคือผลิตภัณฑ์สารสกัดมาตรฐานบัวบก ECa 233 ในรูปยาป้ายปาก (oral paste) สามารถลดความเจ็บปวด ลดขนาดและอาการอักเสบของแผลร้อนในชนิดที่ไม่รุนแรง (mild aphthous ulcers) ได้ และผลิตภัณฑ์กลั้วช่องปากและคอที่มีสารสกัดมาตรฐานบัวบก ECa 233 มีประสิทธิผลสามารถป้องกันและลดภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ รวมทั้งลดความเจ็บปวดเมื่อเกิดการอักเสบจากการฉายรังสีรักษาในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอได้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารสกัดมาตรฐานบัวบก ECa 223 ตามรายการเอกสารอ้างอิงที่แนบ (1-2) และมีตัวอย่างการทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรังในหนูแรทของสารสกัดมาตรฐานใบบัวบก การทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันให้สารสกัดขนาด 0 - 2,000 มก./กก. และการทดสอบความเป็นพิษแบบกึ่งเรื้อรังให้สารสกัดขนาด 250, 500 และ 1,000 มก./กก. เป็นเวลา 90 วัน ผ่านทางปาก ไม่พบความเป็นพิษ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง ขน ตา เยื่อบุผิว (mucous membrane) และทางเดินหายใจ เป็นต้น ซึ่งการเตรียมสารสกัดมาตรฐานมีวิธีการที่ซับซ้อน ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะ เนื่องจากมีการสกัดและแยกสารเพื่อให้ได้สารสกัดที่มีปริมาณสารสำคัญสูงและกำจัดสีเขียวของคลอโรฟิลล์ออก โดยใช้ใบบัวบกที่แห้งและสะอาด 1 กก. สกัดด้วย isopropyl alcohol 5 ลิตร ที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส นาน 8 ชั่วโมง นำมากรอง และระเหยแห้งภายใต้สภาวะสุญญากาศ นำมาผสมน้ำ (deionised water) 3 ลิตร ล้างด้วย hexane 2 ลิตร 2 ครั้ง แยกน้ำส่วนชั้นล่างและสกัดต่ออีก 2 ครั้งด้วย methylisobutylketone 1 ลิตร นำชั้นน้ำไปผ่าน adsorbent resin Amberlite XAD 180 (400 มล.) อัตราการไหล 25 มล./นาที ล้างด้วยน้ำ (demineralised water) 5 ลิตร จนไม่มีสี ชะ adsorbent column ด้วย ethyl alcohol จนกระทั่งไม่พบสาร terpenoid glycosides (ทดสอบด้วย thin layer chromatography) นำไปผ่านคอลัมน์ที่ประกอบด้วย activated charcoal 100 ก. และ silica gel 250 ก. นำไปทำให้เข้มข้นภายใต้สภาวะสุญญากาศ ได้สารสกัดในรูปแบบผง เตรียม clear solution โดยละลายน้ำ 300 มล. ทำให้แห้งด้วยเครื่องอบแห้งแบบพ่นฝอย และวิเคราะห์ด้วยเทคนิค high performance liquid chromatography พบสารสำคัญ asiaticoside 45.74% (3-5) อย่างไรก็ตามหากไม่กังวลเรื่องสีหรือปริมาณสารสำคัญในสารสกัดสามารถสกัดด้วยวิธีและอุปกรณ์ง่ายๆ โดยนำใบบัวบกสดหรือแห้งมาปั่นให้ขนาดเล็กลงและการแช่ด้วย 70% เอทานอล ปริมาตร 2-3 เท่าของปริมาณสมุนไพรที่ใช้ ในภาชนะที่ปิดสนิท ทิ้งไว้ 7 วัน และคนทุกวัน จากนั้นกรองเอาแต่ส่วนของเหลว หรือสารสกัดเก็บไว้ ส่วนกากสามารถสกัดอีกครั้งโดยการแช่ด้วย 70% เอทานอล ซ้ำ อีก 7 วัน เพื่อสกัด ให้นำสารสกัดที่กรอกได้มารวมกันและทำให้เข้มข้นขึ้น ด้วยการระเหยแอลกอฮอล์ออก โดยใช้วิธีตุ๋นในลังถึง ห้ามนำไปตั้งไฟโดยตรง เพราะแอลกอฮอล์มีคุณสมบัติติดไฟ ตุ๋นจนสารสกัดลดลงจนได้สารสกัดหนืดสีเขียวเข้ม และเก็บในขวดหรือภาชนะที่ปิดสนิท แล้วจึงเก็บในตู้เย็นช่องปกติเพื่อไว้ใช้ต่อไป

ทั้งนี้วิธีการสกัดยังสามารถปรับปรุงได้ขึ้นกับวัตถุประสงค์ที่จะนำสารสกัดไปใช้ หากต้องการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่วยและไม่มีความชำนาญด้านการสกัด เบื้องต้นสามารถสั่งซื้อสารสกัดมาตรฐานจากผู้ผลิตสารสกัดโดยเฉพาะ ซึ่งจะได้สารสกัดที่ผ่านการควบคุมคุณภาพปริมาณสารสำคัญ และกำจัดสารบางอย่างที่ไม่ต้องการออกด้วย

อ้างอิง :
1. ชลันดากร เรืองประเสริฐกิจ*, นวลฉวี หงษ์ประสงค์, บุญยงค์ ตันติสิระ, มยุรี ตันติสิระ. การศึกษาเบื้องต้นของผลของสารสกัดมาตรฐานบัวบก อีซีเอ 233 ต่อโรคแผลร้อนในชนิดไม่รุนแรง. วารสารทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2553, พฤษภาคม-สิงหาคม ปีที่ 33 ฉบับที่ 2 หน้า 131-142.
(http://db.hitap.net/articles/1023)
2. อัจจิมา ชลไพศาล, พีรวิชญ์ ทัพวงษ์, ศิริกันยา จงเสถียรธรรม, มยุรี ตันติสิระ, ธนะเศรษฐ์ ง้าวหิรัญพัฒน์, ผ่องพรรณ ศิริพงษ์ และคณะ. รายงานโครงการวิจัยเรื่องประสิทธิผลของสารสกัดมาตรฐานบัวบก ECa 233 ในการลดภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบจากการฉายรังสีในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอ ณ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ: การศึกษาทางคลินิกแบบสุ่ม ปกปิดสองทางที่มียาหลอกเป็นกลุ่มควบคุม. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 2563.
(https://tarr.arda.or.th/preview/item/zpCHLf-KgBDQRDF40MlB9?keyword=)
3. Bylka W, Znajdek-Awiżeń P, Studzińska-Sroka E, Dańczak-Pazdrowska A, Brzezińska M. Centella asiatica in dermatology: an overview. Phytother Res. 2014;28(8):1117-24. doi: 10.1002/ptr.5110.
4. Deshpande PO, Mohan V, Thakurdesai P. Preclinical safety assessment of standardized extract of Centella asiatica (L.) urban leaves. Toxicol Int. 2015;22(1):10-20. doi: 10.4103/0971-6580.172251.
5. Kalshetty P, Aswar U, Bodhankar S, Sinnathambi A, Mohan V, Thakurdesai P. Antidepressant effects of standardized extract of Centella asiatica L in olfactory bulbectomy model. Biomed Aging Pathol. 2012;2(2):48-53.