คำถาม : ขิงดำ
  • อยากจะขอข้อมูลเกี่ยวกับ ขิงดำ สายพันธุ์ แหล่งที่หาซื้อต้นพันธุ์หรือหัวขิงดำ
    มาปลูกและบริโภคได้ ขอบคุณครับ

  • Date : 28/6/2566 15:48:00
คำตอบ : จากรายชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (อ.เต็ม สมิตินันทน์) ยังไม่มีข้อมูลของสมุนไพรที่เรียกว่า ขิงดำ รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับสายพันธุ์ แต่มีการใช้ชื่อภาษาอังกฤษ black ginger เรียกสมุนไพรกระชายดำ (Kaempferia parviflora) หากหมายถึงกระชายดำ สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แหล่งปลูกที่สำคัญส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดเลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เชียงใหม่ ตาก กาญจนบุรี และเชียงราย ซึ่งอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย เป็นแหล่งปลูกกระชายดำแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย กระชายดำมีสายพันธุ์ที่หลากหลาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มใบสีแดงมีเนื้อในเหง้าสีม่วงถึงดำเข้ม และกลุ่มใบสีเขียวมีเนื้อในเหง้าสีจาง สำหรับแหล่งหาซื้อต้นพันธุ์ ในปัจจุบันเหง้าหรือต้นกระชายดำมีจำหน่ายทั่วไปในแต่ละพื้นที่ แต่หากต้องการสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ อาจติดต่อขอข้อมูลจากหน่วยงานวิจัยหรือเก็บรวบรวมข้อมูลกระชายดำ เช่น สถานีเกษตรอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เป็นต้น
               นอกจากนี้ตามข้อมูลในหนังสือพืชเครื่องเทศและพืชสมุนไพร ที่กล่าวว่าขิงดำหมายถึงขิงเล็กหรือขิงเผ็ด ซึ่งเป็นคนละชนิดกับกระชายดำ มีลักษณะเป็นแง่งเล็ก สั้น ข้อถี่ เนื้อมีเสี้ยนมาก และรสค่อนข้างเผ็ด เมื่อลอกเปลือกออกแล้วมีสีน้ำเงินหรือน้ำเงินปนเขียว ตาบนแง่งมีลักษณะแหลม ปลายใบแหลม การแตกกอดี นิยมใช้ทำยาสมุนไพรและทำขิงแห้ง เพราะให้น้ำหนักดีกว่าขิงใหญ่หรือขิงหยวก แต่ไม่นิยมปลูกขายในลักษณะขิงอ่อน

อ้างอิง :
- Huang J, Tagawa T, Ma S, Suzuki K. Black ginger (Kaempferia parviflora) extract enhances endurance capacity by improving energy metabolism and substrate utilization in mice. Nutrients. 2022;14(18):3845. doi: 10.3390/nu14183845.
- https://thaicam.go.th/wp-content/uploads/2021/08/1.%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88-2564.pdf
- เสริมสกุล พจนการุณ, เชวง แก้วรักษ์. การคัดเลือกพันธุ์กระชายดำสายพันธุ์รวบรวมโดยใช้เกณฑ์ความพึงพอใจของผู้ประกอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระชายดำ. วารสารวิชาการเกษตร. 2548;23(3).
- รุ่งรัตน์ เหลืองนทีเทพ. พืชเครื่องเทศและพืชสมุนไพร (2540) โอเดียนสโตร์.กรุงเทพ.