คำถาม : น้ำมันมะพร้าว
  • น้ำมันมะพร้าวสามารถลดไขมันได้ไหมครับ
  • Date : 21/12/2565 16:44:00
คำตอบ : ตัวอย่างรายงานการศึกษาทางคลินิก ให้อาสาสมัครได้รับน้ำมันมะพร้าว virgin coconut oil (น้ำมันมะพร้าวที่สกัดแยกจากเนื้อมะพร้าวโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ใช้ความร้อนสูงและไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปทางเคมี) วันละ 30 มล. เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ผลการทดสอบพบว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวมีระดับไขมันดี HDL เพิ่มขึ้น ระดับไตรกลีเซอไรด์และระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (fasting blood sugar; FBS) ลดลง ในขณะที่ค่าความดันโลหิตและเส้นรอบเอว (waist circumference) ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามระดับคอเลสเตอรอลรวมและไขมันตัวร้าย LDL รวมทั้งค่า asymmetric dimethylarginine (ADMA) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ เพิ่มขึ้น (1)

การศึกษาทางคลินิก ให้อาสาสมัครได้รับน้ำมันถั่วเหลืองหรือน้ำมันมะพร้าว วันละ 30 มล. เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ระหว่างการทดสอบอาสาสมัครจะได้รับอาหารพลังงานต่ำ (hypocaloric diet) และออกกำลังกาย 4 วัน/สัปดาห์ โดยการยืดตัวและการเดิน 50 นาที ผลการทดสอบพบว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวมีระดับไขมันดี HDL เพิ่มขึ้น และลดอัตราส่วนของไขมันร้าย LDL ต่อไขมันดี HDL ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับน้ำมันถั่วเหลืองมีระดับคลอเลสเตอรอลรวม ไขมันร้าย LDL และอัตราส่วนของไขมันร้าย LDL ต่อไขมันดี HDL เพิ่มขึ้น ส่วนระดับไขมันตัวดี HDL ลดลง การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าน้ำมันมะพร้าวมีผลต่อการเพิ่มระดับไขมันดี HDL และไม่ทำให้ระดับไขมันที่ร้าย LDL เพิ่มขึ้น (2)

จะเห็นได้ว่าการทดสอบความสัมพันธ์ของน้ำมันมะพร้าวต่อการลดระดับไขมันในเลือด มีผลการทดสอบที่หลากหลาย จึงยังไม่สามารถที่จะสรุปได้ว่าน้ำมันมะพร้าวมีผลต่อการลดระดับไขมันในเลือด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น จำนวนอาสาสมัคร อายุ เชื้อชาติ หรือภาวะโรคต่าง ๆ ของอาสาสมัคร และระยะเวลาของการทดสอบรวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การควบคุมอาหารหรือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จึงควรมีข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

เอกสารอ้างอิง :
1. Nikooei P, Hosseinzadeh-Attar MJ, Asghari S, Norouzy A, Yaseri M, Vasheghani-Farahani A. Effects of virgin coconut oil consumption on metabolic syndrome components and asymmetric dimethylarginine: A randomized controlled clinical trial. Nutr Metab Cardiovasc Dis. 2021;31(3):939-49. doi: 10.1016/j.numecd.2020.11.020.
2. Assunção ML, Ferreira HS, dos Santos AF, Cabral CR Jr, Florêncio TM. Effects of dietary coconut oil on the biochemical and anthropometric profiles of women presenting abdominal obesity. Lipids. 2009;44(7):593-601. doi: 10.1007/s11745-009-3306-6.