คำถาม : คุณประโยชน์ของถั่วอินคา
  • สอบถามคุณประโยชน์ของถั่วอินคา ใบและเปลือก
  • Date : 11/5/2561 16:03:00
คำตอบ : ถั่วดาวอินคา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plukenetia volubilis เป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาใต้ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย เมล็ดถั่วดาวอินคาเป็นแหล่งของโปรตีน (ประมาณ 27%) และน้ำมัน (35-60%) โดยมีกรดไขมันชนิด omega-3 เช่น linolenic acid ประมาณ 45-53% (12.8–16.0 g/100 g seed) , omega-6 เช่น linoleic acid ประมาณ 34-39% (12.4–14.1 g/100 g seed) และ omega-9 ประมาณ 6-10% ของไขมันทั้งหมด อัตราส่วนของ omega-6 /omega-3 อยู่ในช่วง 0.83–1.09 นอกจากนี้มี phytosterols ได้แก่ beta-sitosterol และ stigmasterol สารที่มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันเช่น วิตามินอี ในรูป tocopherols สารกลุ่มฟีโนลิก และแคโรทีนอยด์
สารสำคัญที่พบในเมล็ดถั่วดาวอินคา เช่น กรดไขมันโดยเฉพาะ omega-3 และ phytosterols นั้นมีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในเลือด นอกจากนี้สารต้านออกซิเดชัน เช่น tocopherols สารกลุ่มฟีโนลิก และแคโรทีนอยด์ สามารถต้านอนุมูลอิสระและป้องกันการออกซิเดชันของไขมัน ดังนั้นถั่วดาวอินคา และน้ำมันจากถั่วดาวอินคาน่าจะเป็นประโยชน์ในลดไขมันในเลือด และป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
การศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัคร 30 คนให้รับประทานน้ำมันถั่วดาวอินคา หรือน้ำมันเมล็ดทานตะวัน 10-15มล. ต่อวัน เป็นเวลาสี่เดือน พบว่าทั้งกลุ่มที่รับประทานน้ำมันถั่วดาวอินคา และเมล็ดทานตะวัน มีระดับคอเลสเตอรอลรวม และ คอเลสเตอรอลชนิด LDL ลดลง และ กลุ่มที่รับน้ำมันถั่วดาวอินคามีระดับคอเลสเตอรอลชนิด HDL ในเลือดเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมันเมล็ดทานตะวัน นอกจากนี้ไม่พบการเปลี่ยนแปลงค่าทางชีวเคมีในเลือดที่ใช้ตรวจสอบความผิดปกติของตับและไต โดยผลข้างเคียงที่พบมากที่สุดคือการคลื่นไส้อาเจียน
เปลือกถั่วดาวอินคา สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หรือเชื้อเพลิงอัดแท่ง (ข้อมูลจากเวปของกรมวิชาการเกษตร) แต่ปัจจุบันมีการขายผลิตภัณฑ์เปลือกถั่วดาวอินคา โดยนำมาชงเป็นชาดื่ม และอ้างสรรพคุณมากมาย ซึ่งเมื่อสืบค้นข้อมูลงานวิจัย ยังไม่พบข้อมูลที่จะมาสนับสนุนสรรพคุณการใช้ดังกล่าว
จากการสืบค้นงานวิจัยยังไม่พบการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาวิทยาของใบของถั่วดาวอินคา