คำถาม : มะเกลือกา
  • ต้องการทราบสรรพคุณของมะเกลือกาครับ ...ผมค้นหาใน google แล้วรูปภาพผลมะเกลือกาไม่ตรงกันกับที่บ้านจึงไม่มั่นใจครับ หากไม่มีประโยชน์คงต้องโค่นทิ้งครับ
  • Date : 28/3/2561 17:25:00
คำตอบ : เนื่องจากพืชชนิดหนึ่งอาจมีชื่ออื่นๆ ได้อีกหลายชื่อ ตามการเรียกของแต่ละท้องถิ่นค่ะ ดังนั้นการสืบค้นด้วยชื่อวิทยาศาสตร์จะมีความถูกต้องและชัดเจนมากกว่า จากการสืบค้นพบชื่อ มะเกลือกา จำนวน 2 ชื่อที่นิยมเรียกค่ะ

1. มะเกลือกา ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Diospyros gracilis Fletcher เป็นพืชในวงศ์ EBENACEAE ชื่ออื่นๆ คือ กาจะ น้ำจ้อน มะหวีด, มะเกียกา ผลสุกใช้รับประทานได้ พบในป่าดิบแล้ง ใกล้ภูเขาหินปูน ภาคกลางและภาคตะวันออกของไทย เป็นพืชหายากและเป็นพืชเฉพาะถิ่น สำหรับพืชต้นนี้ยังไม่มีการระบุสรรพคุณที่ชัดเจน และงานวิจัยมีน้อยมากค่ะ
(ลองตรวจสอบรูปที่ http://www.dnp.go.th/flora/plant_pages.php?varname=322 )

2. มะเกลือกา ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alangium salviifolium (L.f.) Wangerin subsp. hexapetalum Wangerin ชื่อพ้องคือ Alangium lamarckii Thwaites, Alangium salviifolium (L.f.) Wangerin, Alangium hexapetalum Lam. เป็นพืชในวงศ์ ALANGIACEAE ชื่ออื่นๆ คือ ปรู๋, ปรู, ผลู, มะตาปู๋ ผลรสหวานอมเปรี้ยว รับประทานได้ แห้งไม่แตก พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบเขา หรือป่าชายเลน สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า เปลือกราก แก้บิด ขับพยาธิ ทำให้อาเจียน เป็นยาระบาย ลดไข้ ขับเหงื่อ เปลือกต้น แก้ท้องร่วง แก้หืด แก้ไอ เนื้อไม้ แก้ริดสีดวงลำไส้ แก้ริดสีดวงทวารหนัก แก่น บำรุงน้ำเหลือง บำรุงกำลัง ผล แก้ท้องร่วง ฆ่าพยาธิ แก้จุกเสียด
(ลองตรวจสอบรูปที่ http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=70)

อ้างอิง :
- นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพร:ไม้พื้นบ้าน (2). กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชนจำกัด; 2541.
- http://www.dnp.go.th/flora/plant_pages.php?varname=322
- http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=70