คำถาม : การสกัดสมุนไพร
  • รบกวนสอบถามเกี่ยวกับการสกัดสมุนไพรเพื่อทำยาโดยมีรายละเอียดดังนี้
    1. การสกัดเภสัชสารด้วย ipa ควรใช้สมุนไพรสด หรือสมุนไพรแห้ง แบบใหนได้เภสัชสารที่มีคุณภาพดีกว่ากัน และควรแช่ไว้เป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ครับ
    2. การสกัดวิตามินอี วินามินเอและสารสำคัญจากเซียนท้อ (ละมุดอินเดีย) ควรใช้วิธีการสกัดแบบใดดีครับ และหากใช้เทคโนโลยีชาวบ้านแบบง่ายๆ มีวิธีการอย่างไรบ้างครับ (ต้องการแปรรูปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกเซียนท้อที่มีราคาต่ำครับ) ขอบคุณมากครับ

  • Date : 27/3/2561 17:14:00
คำตอบ : จากคำถามข้อ 1 หากหมายถึง IPA (India Pale Ale) ที่เป็นเบียร์ใส่ฮ็อพ ซึ่งน่าจะเทียบเคียงกับการสกัดด้วยแอลกอฮอล์รูปแบบหนึ่ง แต่การใช้ IPA เป็นตัวทำละลายในการสกัดสารสำคัญอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสม เนื่องจากส่วนผสมต่างๆ ใน IPA อาจรบกวนการตรวจสอบปริมาณสารสำคัญหรือรบกวนการทำให้สารบริสุทธิ์ได้ โดยทั่วไปการสกัดสารสำคัญจากพืชด้วยแอลกอฮอลล์ นิยมใช้ตัวทำละลายบริสุทธิ์ เช่น เอทานอล เมทานอล เป็นต้น โดยอาจใช้ความเข้มข้นที่แตกต่างออกไป ตั้งแต่ 0-100% (dilute ด้วยน้ำกลั่น) หรือใช้วิธีการสกัดโดยการหมักด้วยเหล้าขาว (ความเข้มข้น 35-40%เอทานอล) เนื่องจากจะหาซื้อได้ง่าย ตามคำแนะนำในหนังสือคู่มือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อเศรษฐกิจชุมชน ของอย. ซึ่งมีวิธีทำดังนี้

1. แช่สมุนไพรในเหล้าขาว โดยใช้เหล้าขาวประมาณ 2-3 เท่าของปริมาณสมุนไพรที่ใช้ โดยแช่ในภาชนะที่ปิดสนิท ทิ้งไว้ 7 วัน และคนทุกวัน
2. จากนั้นกรองเอาแต่ส่วนน้ำ บีบสารละลายออกจากกากให้หมด แยกเก็บสารสกัดไว้ (1)
3. เติมเหล้าขาวเพิ่มในภาชนะ เพื่อล้างกาก และทำการหมักซ้ำ อีก 7 วัน เพื่อสกัดให้ได้สารออกมามากที่สุด
4. เมื่อครบ 7 วัน กรองเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำออกมา (2)
5. นำสารสกัดที่ (1) และที่ (2) มารวมกัน จากนั้นทำให้เข้มข้นขึ้นด้วยการระเหยแอลกอฮอล์ออก โดยใช้วิธีตุ๋นในลังถึง ห้ามนำไปตั้งไฟโดยตรง เพราะแอลกอฮอล์มีคุณสมบัติติดไฟ ตุ๋นจนสารสกัดลดลงเหลือ 1 ใน 3 ทิ้งให้เย็น นำไปใส่ในขวดหรือภาชนะที่ปิดสนิท แล้วจึงเก็บในตู้เย็นช่องปกติเพื่อไว้ใช้ต่อไป
สำหรับการเลือกใช้สมุนไพรสดหรือแห้งมาสกัด จะขึ้นอยู่ว่าสารสำคัญที่คุณต้องการมีคุณสมบัติอย่างไร กรณีที่สารสำคัญไม่สามารถทนต่อกระบวนการทำให้แห้ง เช่น ไม่ทนความร้อน มีความไม่คงตัวสูง สารเหล่านั้นก็จะหายไปในกระบวนการทำให้แห้ง อาจต้องเลือกสมุนไพรสดมาสกัด แต่หากสารสำคัญสามารถทนต่อการทำให้แห้งได้ สารก็จะยังคงอยู่ในสมุนไพร และสามารถนำมาสกัดได้ นอกจากนี้ การเลือกใช้ตัวทำละลายและวิธีการสกัดที่ต่างกัน ก็จะทำให้ได้สารสำคัญที่ต่างกัน ดังนั้นควรศึกษาและตรวจสอบคุณสมบัติของสารที่ต้องการให้ชัดเจนก่อนการสกัด

จากคำถามข้อ 2 สำหรับการสกัดวิตามินอี และเอ มีรายละเอียดค่อนข้างมากค่ะ แนะนำให้ลองศึกษาจาก Link งานวิจัยที่แนบมา
https://link.springer.com/content/pdf/10.1007%2Fs11746-017-3025-8.pdf
http://docsdrive.com/pdfs/ansinet/jas/2010/1187-1191.pdf

สำหรับการสกัดสารสำคัญจากเซียนท้อ (ละมุดอินเดีย) ขอแนะนำเหมือนในข้อ 1 ค่ะ ว่าการจะเลือกวิธีการสกัดอะไร ควรศึกษาและตรวจสอบคุณสมบัติของสารที่ต้องการให้ชัดเจนก่อนจึงค่อยเลือกวิธีที่เหมาะสมกับสารที่ต้องการค่ะ