คำถาม : ต้นลำโพงกาสลัก
  • ต้นลำโพงกาสลัก สามารถนำมาบดทานได้ไหมครับ ผมมียาขนานหนึ่งที่ต้องใช้ลำโพงกาสลักผสมด้วย จึงอยากถามจะอันตรายไหม
  • Date : 26/3/2561 16:45:00
คำตอบ : ลำโพงกาสลัก (Datura metel L. var. fastuosa (Bernh.) Danert) ชื่อพ้อง Datura fastuosa L. เป็นพืชในวงศ์ SOLANACEAE
สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า
ใบ รสขมเมาเบื่อ ตำพอกฝี ทำให้ยุบ แก้สะอึกในไข้พิษไข้กาฬ ยาพอกแก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน แก้แผลเรื้อรัง แก้พิษสัตว์กัดต่อย แก้พิษฝี แก้ปวดแสบบวมที่แผล แก้ปวดบวม อักเสบ ใช้ทาแก้อักเสบเต้านม มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ แก้อาการปวดเกร็งท้อง และขยายหลอดลม แก้หอบหืด มีฤทธิ์กดสมอง แก้อาเจียนจากเมารถเมาเรือ แต่มีอาการข้างเคียงคือ ปากคอแห้ง ใบและยอด มีอัลคาลอยด์ ที่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ แก้อาการปวดท้องเกร็ง และขยายหลอดลม
ดอก รสเมาเบื่อ ตากแห้งผสมยาเส้นสูบ แก้หอบหืด โพรงจมูกอักเสบ แก้ริดสีดวงจมูก มีสารแก้การตีบตัวของหลอดลม
เมล็ด รสเมาเบื่อ รับประมานมากทำให้วิกลจริต ทำให้ตาย คั่วให้หมดน้ำมัน ปรุงยาแก้ไข้พิษ ไข้กระสับกระส่าย
น้ำมันจากเมล็ด รสเมาเบื่อ ปรุงยาใส่แผล แก้กลากเกลื้อน ผื่นคัน หิดเหา เมล็ดใช้ทาบรรเทาอาการปวดเมื่อย ขัดยอก โดยนำเมล็ด 30 กรัม ทุบพอแหลก แล้วแช่กับน้ำมันพืช ทาตรงบริเวณที่ปวดเมื่อย หรือขัดยอก จะช่วยบรรเทาอาการปวด แต่ต้องแช่เอาไว้ประมาณ 7 วัน จึงจะนำมาใช้ได้ และใช้ใส่ฟันที่เป็นรู ช่วยบรรเทาอาการปวดได้
ราก รสเมาเบื่อหวาน ฝนทาพิษร้อน ดับพิษฝี แก้ปวดบวมแก้อักเสบ สุมเป็นถ่านปรุงยารับประทาน แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้เซื่องซึม เปลือกผล รสเมาเบื่อ แก้มะเร็ง คุดทะราด แก้กระษัย แก้ริดสีดวง
ทุกส่วน มีฤทธิ์เป็นยาเสพติดระงับปวด แก้อาการเกร็ง ทั้งต้น เป็นยาระงับปวด แก้อาการเกร็ง น้ำคั้นจากต้น เมื่อหยอดตาจะทำให้ม่านตาขยาย
ข้อควรระวัง ผลและเมล็ดเป็นพิษ มีสารอัลคาลอยด์ hyoscine, hyoscyamine ถ้ากินเข้าไปทำให้เกิดอาการเริ่มต้นคือสายตาพร่ามัว ปากแห้ง กระหายน้ำมาก ม่านตาขยายและปรับสายตาไม่ได้ทำให้ตาไม่สู้แสง ผิวหนังร้อนแดงและมีผื่นแดงตามใบหน้า คอและหน้าอก ไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ ความรู้สึกสับสน การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ ถ้าได้รับมาก วิกลจริต เพ้อคลั่ง เคลิ้มฝัน มีอาการทางจิตและประสาท ตื่นเต้น ตาแข็ง หายใจไม่สะดวก พูดไม่ออก หายใจช้าลง ตัวเขียว เมื่อแก้พิษหายแล้ว จะมีอาการวิกลจริตติดอยู่ตลอดไป รักษาไม่ค่อยหาย
ในส่วนของการนำมาปรุงยา แนะนำให้ศึกษาวิธีการปรุงยาที่ถูกต้องจากแพทย์แผนไทยหรือจากตำรายาที่มียาขนานนั้นๆ ค่ะ เนื่องจากโดยปกติหากมีสารที่เป็นพิษอยู่ในตำรับ มักจะมีวิธีการสะตุ, ประสะ, ฆ่าฤทธิ์ เพื่อที่จะสามารถนำตัวยาที่มีฤทธิ์แรงมาใช้ประกอบในตัวยาเพื่อให้เกิดสรรพคุณทางยาได้ ซึ่งยาขนานดังกล่าวหากมีระบุว่าต้องใช้ลำโพงกาสลักเป็นส่วนประกอบ ก็ควรจะมีระบุว่าใช้ส่วนใด ปริมาณเท่าไร และมีวิธีการฆ่าฤทธิ์ของยาอย่างไร เพื่อที่จะสามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ก่อเกิดอันตรายต่อร่างกายค่ะ

อ้างอิง :
นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพร:ไม้พื้นบ้าน (4). กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชนจำกัด; 2543.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=105
สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทย http://www.ayurvedicthai.com/article/7794063