คำถาม : เถาวัลย์เปรียง
  • สอบถามเกี่ยวกับการตีกันของยาสมุนไพรเถาวัลย์เปรียงกับยาแผนปัจจุบัน เช่น ยาในกลุ่ม aspirin warfarin ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์
  • Date : 26/2/2561 17:05:00
คำตอบ : ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนของการเกิดอันตรกิริยาของเถาวัลย์เปรียงกับยา aspirin และ warfarin หรือ ยาแก้ปวดในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) สำหรับการศึกษาการเกิดอันตรกิริยาของเถาวัลย์เปรียงกับยาแผนปัจจุบัน มีตัวอย่างรายงานวิจัย เช่น การศึกษาความสามารถของสารสกัดพืชสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ เพชรสังฆาต หญ้าดอกขาว เถาวัลย์เปรียง หญ้าหวาน และมะรุม ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP ในตับ จนส่งผลให้เปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของยาแผนปัจจุบันที่ใช้ร่วมด้วยนั้น พบว่ามีโอกาสทำให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างพืชสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบันที่เมตาบอลิซึมผ่านเอนไซม์ CYP ชนิดย่อย CYP1A2, CYP2C9 และ CYP3A4 ในระดับต่ำ (1) การศึกษายาสมุนไพรอายุรเวทศิริราชตำรับยาวัฒนะ ซึ่งประกอบด้วยสมุนไพร 15 ชนิด และมีเถาวัลย์เปรียงเป็นส่วนประกอบ พบว่ามีผลเพิ่มระดับความเข้มข้นของยาพาราเซตามอลในซีรัม (2) อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังการใช้เถาวัลย์เปรียงร่วมกับยาแผนปัจจุบัน ควรมีข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการใช้อย่างปลอดภัย (3) และควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารเนื่องจากเถาวัลย์เปรียงมีกลไกออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาแก้ปวดในกลุ่มยา NSAIDs การใช้ยานี้อาจทาให้เกิดการระคายเคืองของระบบทางเดินอาหาร (4)

Ref :
(1) http://www.lpnh.go.th/drug/file/DIS-19-4-2559.pdf
(2) Kanya Bunnan, Reawika Chaikomin, Supatra Lohsiriwat, Summon Chomchai, Pravit Akarasereenont. Effect of Ayuraved Siriraj herbal recipe “Wattana” on gastric emptying rate. Siriraj Med J 2012;64:89-93.
(3) Tadsanee Punjanon, Rianthong Phumsuay, Mathusorn Wongsawat. Evaluation of antinociception effect of Derris scandens using acetic acid-induced abdominal constriction test in mice. RSU International Research Conference 2016.
(4) ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ 2560