คำถาม : สมุนไพรที่ช่วยลดความดันสูง
  • มีสมุนไพรที่ช่วยลดความดันสูงไหม
  • Date : 16/10/2560 15:43:00
คำตอบ : สมุนไพรที่มีรายงานวิจัยว่าสามารถลดความดันโลหิตในทางคลินิกได้ผล ได้แก่ กระเจี๊ยบแดง กระเทียม ทับทิม งา ฝรั่ง ดอกคำฝอย และขึ้นฉ่าย เป็นต้น

จากการศึกษาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงขั้นที่ 1 (ค่าความดัน 140 - 159/90 - 99 มม.ปรอท) ถึงขั้นที่ 2 (ค่าความดัน 160 - 179/100 - 109 มม.ปรอท) อายุ 30 - 80 ปี ที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันก่อนเข้าร่วมการทดลองอย่างน้อย 1 เดือน เมื่อให้ดื่มชาจากผงดอกกระเจี๊ยบแดง 10 ก. ชงในน้ำเดือด 500 มล. และแช่ไว้นาน 10 นาที ดื่มวันละ 1 ครั้ง ช่วงก่อนรับประทานอาหารเช้าทุกวัน เมื่อสิ้นสุดการทดลอง 4 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีค่าความดันโลหิตลดลง และมีผลเทียบเท่ากับผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน และการทดลองให้ผู้ป่วยรับประทานกระเจี๊ยบแดงในรูปของสารสกัด anthocyanin จากส่วนของกลีบเลี้ยงขนาด 250 มก./วัน ก็พบว่าสามารถลดความดันโลหิตของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้

กระเทียมเพื่อลดความดันโลหิต คือ รับประทานกระเทียมสดประมาณ 8-10 กลีบ/วัน ขนาดกลาง (หรือประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ) หรือใช้ในรูปแบบของผงแห้ง 600-900 มก./วัน แต่มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนาน หลายๆ เดือน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกแล้วหยุดยาก และไม่ควรใช้ในผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin coumarin และ aspirin เป็นต้น เนื่องจากกระเทียมมีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ซึ่งจะไปเสริมฤทธิ์ของยาเหล่านี้ ทำให้เพิ่มเวลาการไหลของเลือด และผู้ที่ต้องได้รับการผ่าตัด หรือถอนฟัน ควรหยุดรับประทานกระเทียมก่อนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเข้าทำการรักษา อาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์เมื่อรับประทานกระเทียม คือ มีอาการร้อนในปากและทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย มีแผลในกระเพาะอาหาร ปวดท้อง แน่น มีลมในท้อง ไม่อยากอาหาร เหงื่อออก และพบอาการลำไส้อุดตัน เมื่อรับประทานกระเทียมต่อเนื่องเพื่อรักษาหวัด นอกจากนี้การรับประทานกระเทียมปริมาณมากยังทำให้ลมหายใจมีกลิ่นกระเทียม และมีกลิ่นตัวเฉพาะ

ทั้งนี้การใช้สมุนไพรต่างๆ จะใช้เพื่อบรรเทาอาการที่ไม่รุนแรงและเป็นเพียงตัวช่วยเท่านั้น และโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังที่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดค่ะ