คำถาม : โทงเทงฝรั่งแตกต่างกับโทงเทงไทยอย่างไร
  • 1. โทงเทงฝรั่งแตกต่างกับโทงเทงไทยอย่างไร
    2. โทงเทงฝรั่งสรรพคุณมีอะไรบ้าง
    - ระบุส่วนที่ใช้
    - วิธีใช้
    - ข้อควรระวัง

  • Date : 4/8/2560 17:25:00
คำตอบ : 1.โทงเทงฝรั่งหรือเคพกูสเบอร์รี (cape gooseberry) มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Physalis peruviana L. สำหรับโทงเทงไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า P. angulata L. และ P. minima L. ทั้งโทงเทงฝรั่งและโทงเทงไทยเป็นพืชจัดอยู่ในวงศ์ SOLANACEAE พวกเดียวกับมะเขือ โดยมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ใกล้เคียงกัน แต่ผลโทงเทงฝรั่งมีลักษณะโตกว่า ผลสุกสีเหลืองส้ม รสชาติหวานอมเปรี้ยว สามารถนำมารับประทานได้ แต่โทงเทงไทย ผลมีขนาดเล็ก กลิ่นและรสชาติไม่เป็นที่นิยมนำมารับประทาน

2.สรรพคุณของโทงเทงฝรั่ง
ผลสุก ของโทงเทงฝรั่งอุดมไปด้วยวิตามินต่างๆ มีคุณค่าทางโภชนาการ จัดเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำ ใน 1 ถ้วย 140 กรัม ให้พลังงานประมาณ 74 กิโลแคลลอรี มีคาร์โบไฮเดรตจากความหวานของน้ำตาลและไฟเบอร์ มีโปรตีน อุดมไปด้วยวิตามินเอและวิตามินซี นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) และโพลีฟีนอล (polyphenols) และมีข้อมูลระบุว่าน้ำมันที่สกัดจากเมล็ด เนื้อและผิวเปลือกของโทงเทงฝรั่งประกอบไปด้วยสารกลุ่มไฟโตสเตอรอล (phytosterols) ซึ่งสารสำคัญต่างๆ เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งมีกากใยช่วยในเรื่องของการขับถ่าย ในต่างประเทศนิยมนำผลที่ต้มแล้วใส่ในพาย พุดดิ้ง ชัทนีย์ (chutney; เป็นเครื่องปรุงรสที่มีต้นกำเนิดจากอินเดียตะวันออก) และไอศกรีม มีการแปรรูปเป็นแยมหรือเยลลี่ สำหรับในประเทศไทยมีการแปรรูปเป็นน้ำคั้นบรรจุขวดออกมาจำหน่าย นอกจากนี้โทงเทงฝรั่งยังมีกลิ่นเฉพาะตัว ปัจจุบันมีการศึกษาเพื่อพัฒนานำกลิ่นและน้ำมันจากผลโทงเทงฝรั่งมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และสามารถรับประทานโทงเทงฝรั่งควบคู่กับผลไม้หลากลายชนิด

สำหรับข้อควรระวัง มีงานวิจัยพบว่าหนูเพศผู้ในกลุ่มที่ได้รับผงแห้งจากน้ำคั้น ขนาด 5,000 มก./กก. จะมีระดับ troponin T และโพแทสเซียมสูงขึ้น และหนูเพศผู้ที่ได้รับผงแห้งจากน้ำคั้นทุกขนาด มีระดับ troponin I สูงขึ้น ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีการตายของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ แสดงว่าโทงเทงฝรั่งในขนาดสูงอาจมีผลทำให้เกิดความเป็นพิษต่อหัวใจในหนูแรทได้ ดังนั้นอาจจะต้องระมัดระวังการรับประทานโทงเทงฝรั่งในปริมาณสูง ในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งต้น ส่วนราก รวมทั้งส่วนเหนือดิน ลำต้น ใบ และกลีบเลี้ยง พบสารสำคัญกลุ่ม withanolides ซึ่งเป็น steroidal lactones สามารถพบได้ในพืชวงศ์มะเขือ สกุลต่างๆ เช่น Acnistus, Datura, Jaborosa, Lysium, Withania รวมทั้งสกุล Physalis สารกลุ่มนี้มีการศึกษาพบว่ามีฤทธิ์ต้านอักเสบ ต้านเซลล์มะเร็งต้านการแบ่งตัวของเซลล์ และกระตุ้นการตายของเซลล์แบบ apoptosis สารที่แยกได้จากโทงเทงฝรั่งที่มีการนำมาศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ได้แก่ withanolide E และ 4β-hydroxywitha-nolide E เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและการทดสอบความเป็นพิษของส่วนต่างๆ ของ โทงเทงฝรั่งยังมีน้อย และส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงยังไม่สามารถนำสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของโทงเทงฝรั่งมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

ที่มา : จุลสารข้อมูลสมุนไพร ฉบับที่ 34(2)