คำถาม : สมุนไพรอะไรบ้างที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
  • รบกวนสอบถาม สมุนไพรอะไรบ้างที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ (Category X) หญิงให้นมบุตร โรคตับ โรคไต และเนื่องจากในปัจจุบันโรงพยาบาลลำดวนได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นอันดับต้นๆ จึงต้องการข้อมูลวิชาการของยาสมุนไพรที่ต้องมีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร โรคตับ โรคไต เป็นต้นค่ะ
  • Date : 28/10/2559 10:56:00
คำตอบ : สมุนไพรที่ควรระมัดระวังการใช้ในสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร
โดยปกติในช่วงการตั้งครรภ์ (โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรก) และช่วงให้นมบุตร จะไม่แนะนำให้ใช้ยาหรือสมุนไพรใดๆ ยกเว้นการใช้ในรูปแบบของอาหารที่รับประทานในขนาดทั่วไป และสมุนไพรที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษคือ กลุ่มที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศ เช่น ถั่วเหลือง กวาวเครือ โสม ตังกุย รวมทั้งยาสตรีต่างๆ เป็นต้น กลุ่มที่อาจทำให้ตัวอ่อนผิดปกติ เช่น ฟ้าทะลายโจร ยาสูบ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (ชา กาแฟ โกโก้) เป็นต้น และกลุ่มที่รบกวนการฝังตัวหรือกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก เช่น ตะไคร้หอม หญ้าฝรั่น มะระ เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงเครื่องเทศและอาหารรสจัด

สมุนไพรที่มีรายงานความเป็นพิษต่อตับ
- ขี้เหล็ก (ซึ่งผลิตและจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ด) ทำให้การเกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ปัจจุบันทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีมติให้ระงับการขึ้นทะเบียนขี้เหล็กในรูปแบบยาสมุนไพรเดี่ยว
- คาวา (kava) สมุนไพรที่นิยมใช้ในการรักษาอาการนอนไม่หลับ มีรายงานว่ามีผลทำลายตับ
- หูปลาช่อน (Emilia sonchifolia ) และหญ้างวงช้าง (Heliotropium indicum) มีรายงานความเป็นพิษต่ตับ ทำให้เกิดอาการชักกระตุกควบคู่ไปกับการอาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน และหมดสติ

สมุนไพรที่ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อไตและควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคไต
- ชะเอมเทศและมะขามแขก มีผลทำให้เกิดภาวะโปแตสเซียมต่ำในเลือด
- น้ำลูกยอ อาจให้เกิดภาวะโปแตสเซียมสูงในเลือด
- มะเฟือง มีรายงานว่าทำให้ไตเกิดความเป็นพิษจากออกซาเลท (oxalate nephropathy)
- ลูกเนียง (Archidendron jiringa ) มีความเป็นพิษต่อระบบปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะยากและมีเลือดปน
อย่างไรก็ตามการใช้สมุนไพรในขนาดสูงและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดความเป็นพิษต่อตับและไตได้

สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
- บทความ “ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร” http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/270/ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร/
- Pharm Database และฐานพืชพิษ สนง.ข้อมูลสมุนไพร