คำถาม : กระเทียม ใบบัวบก กระเจี๊ยบ ช่วยลดความดัน
  • อยากทราบว่า กระเทียม ใบบัวบก กระเจี๊ยบ ช่วยลดความดันได้ใช่ไหมคะ แล้วแต่ละตัวมีวิธีใช้อย่างไร ห้ามใช้นานเกินกี่เดือน มีข้อห้ามข้อควรระวังอย่างไรบ้าง แล้วใช้ร่วมกันยาแผนปัจจุบันได้หรือไม่คะ
  • Date : 5/1/2559 9:28:00
คำตอบ : การใช้กระเทียมเพื่อลดความดันโลหิต คือ รับประทานกระเทียมสดประมาณ 8-10 กลีบ/วัน ขนาดกลาง (หรือประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ) หรือใช้ในรูปแบบของผงแห้ง 600-900 มก./วัน แต่มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนาน หลายๆ เดือน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกแล้วหยุดยาก และไม่ควรใช้ในผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin coumarin และ aspirin เป็นต้น เนื่องจากกระเทียมมีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ซึ่งจะไปเสริมฤทธิ์ของยาเหล่านี้ ทำให้เพิ่มเวลาการไหลของเลือด และผู้ที่ต้องได้รับการผ่าตัด หรือถอนฟัน ควรหยุดรับประทานกระเทียมก่อนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเข้าทำการรักษา อาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์เมื่อรับประทานกระเทียม คือ มีอาการร้อนในปากและทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย มีแผลในกระเพาะอาหาร ปวดท้อง แน่น มีลมในท้อง ไม่อยากอาหาร เหงื่อออก และพบอาการลำไส้อุดตัน เมื่อรับประทานกระเทียมต่อเนื่องเพื่อรักษาหวัด นอกจากนี้การรับประทานกระเทียมปริมาณมากยังทำให้ลมหายใจมีกลิ่นกระเทียม และมีกลิ่นตัวเฉพาะ

การใช้บัวบกเพื่อลดความดันโลหิต ยังไม่มีรายงานการใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยว มีเพียงการใช้ในรูปแบบของตำรับยาสมุนไพรที่มีใบบัวบกเป็นส่วนประกอบ 10 มก./เม็ด โดยให้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง รับประทานวันละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่ามีฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้ แต่การใช้บัวบกในขนาดสูงเป็นเวลานานอาจพบความเป็นพิษต่อตับได้ และการใช้ร่วมกับยาลดความดันบางชนิด เช่น enalapril, emlodipine อาจทำให้ระดับยาในเลือดสูง เนื่องจากบัวบกยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในการกำจัดยาดังกล่าวออกจาร่างกาย

การใช้กระเจี๊ยบแดงเพื่อลดความดันโลหิต คือ ใช้ส่วนของกลีบเลี้ยงตากแห้ง 5 – 10 กรัม หรือประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ต้มกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มล.) นาน 20 - 30 นาที ดื่มวันละ 1 - 3 ครั้ง และเนื่องจากกระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์ขับปัสสาวะจึงอาจเร่งการขับออกจากร่างกายของยาบางชนิด ทำให้ลดประสิทธิภาพของยาได้ และการใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะจะเสริมฤทธิ์ลดความดันของยาทำให้ความดันลดลงมากเกินไป ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานพร้อมกัน

ทั้งนี้การใช้สมุนไพรต่างๆ จะใช้เพื่อบรรเทาอาการที่ไม่รุนแรงและเป็นเพียงตัวช่วยเท่านั้น และโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังที่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดค่ะ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของสมุนไพรชนิดอื่นๆ ที่มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ได้ในในหนังสือ “สารพันคำถามฮิตสรรพคุณสมุนไพร เล่ม 1” ซึ่งสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่เบอร์ 02-354-4327 หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/index.asp ค่ะ