ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ aldose reductase ของมะตูม และป้องกันการเป็นต้อกระจกในหนูที่เป็นเบาหวาน

สารสกัดเอทิลอะซิเตดจากใบมะตูมเมื่อนำไปทดสอบในหลอดทดลอง พบว่าสามารถยับยั้งเอนไซม์ aldose reductase ในเลนส์ลูกตาของหนูแรทได้ โดยค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) มีค่าประมาณ 15 มคก./มล. และสารสกัดดังกล่าวสามารถป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูงที่เหนี่ยวนำให้มีการทำงานเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ aldose reductase และมีการสะสมของสาร sorbitol และเกิดภาวะตาดำขุ่นเหมือนเป็นต้อกระจก ในเลนส์ตาของหนูแรทที่นำมาศึกษานอกตัวหนู (ex vivo) นอกจากนี้สารสกัดเอทิลอะซิเตดสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูแรทที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin (STZ) และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ aldose reductase ทำให้เป็นต้อกระจกช้าลง และพบว่าโปรตีน α-crystallin (เป็นโปรตีนที่ช่วยให้เลนส์ตาคงความใส) ที่แยกได้จากหนูที่ป้อนด้วยสารสกัดใบมะตูมมีการทำงานดีขึ้นมากกว่าหนูที่ไม่ได้รับสารสกัดจากใบมะตูม ซึ่งมีผลป้องกันการเกิดต้อกระจกได้ จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตดมีศักยภาพในการยับยั้งเอนไซม์ aldose reductase ในเลนส์ลูกตาของหนูแรทที่เป็นเบาหวานได้ และมีผลป้องกันการสูญเสียของสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้การทำงานของ α-crystallin ดีขึ้นซึ่งส่งผลให้เป็นต้อกระจกช้าลง

J Ethnopharmacol 2013;143:215-21.