ฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลของเมล็ดมะเขือเทศ

การศึกษาฤทธิ์ลดคอลเลสเตอรอลของกากมะเขือเทศอบแห้ง (TP) น้ำมันจากเมล็ดมะเขือเทศ (TSO) และเมล็ดมะเขือเทศที่สกัดน้ำมันออกแล้ว (DTS) ในหนูแฮมสเตอร์ โดยทำการป้อนอาหารไขมันสูงที่มีส่วนผสมของ TSO 10% หรือ DTS 18% เทียบกับการป้อนอาหารที่มีน้ำมันข้าวโพด 10% และเซลลูโลสชนิด microcrystalline 10% (กลุ่มควบคุม) และทดลองป้อนอาหารที่มีส่วนผสมของ TP 42% เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับอาหารที่มีเซลลูโลสชนิด microcrystalline 25% พบว่า การป้อนอาหารที่มีส่วนผสมของมะเขือเทศทั้ง 3 รูปแบบ มีผลลดปริมาณคอเลสเตอรอลที่สะสมในตับของหนูได้ แต่กลุ่มที่ได้รับ DTS เท่านั้นที่สามารถลดปริมาณคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลชนิด low-density lipoprotein ในเลือดได้ นอกจากนี้ยังพบว่าหนูที่ได้รับ DTS มีการแสดงออกของยีน CYP7A1, CYP51, ABCB11 และ ABCG5 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นยีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์กรดน้ำดีและคอเลสตอรอล เป็นผลให้ร่างกายขับกรดน้ำดี และคอเลสเตอรอลออกทางอุจจาระเพิ่มมากขึ้น ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในเลือดของมะเขือเทศมีความเกี่ยวข้องกับโปรตีน ไฟเบอร์ หรือสารฟีนอลิคที่พบในเมล็ดมะเขือเทศ

Food Chem 2013;139:589-96