ฤทธิ์ของสารสกัดเมล็ดลำไยในการลดภาวะที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูง

ภาวะที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูง ก่อให้เกิดข้ออักเสบ โรคไต โรคหัวใจ และอื่นๆ ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ เอนไซม์ xanthine oxidase และการขนส่งเกลือยูเรต การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase ของสารสกัดจากเมล็ดลำไย พบว่าสารสกัด ความเข้มข้น 20 50 และ 100 มคก./มล. เมื่อเปรียบเทียบกับ allopurinol (สารยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase) ความเข้มข้น 0.2 มคก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase ต่ำกว่า allopurinol เมื่อทดลองในเซลล์ตับ (clone-9 cells) และพบว่าสารสำคัญหลัก 3 ชนิด ที่แยกได้จากสารสกัดเมล็ดลำไย ได้แก่ gallic acid, corilagin และ ellagic acid ก็มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase ได้เช่นกัน นอกจากนี้สารสกัดจากเมล็ดลำไย ยังลดระดับของกรดยูริกในเซลล์ตับ เมื่อฉีดสารกัด ขนาด 80 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนูแรท 30 นาที ก่อนที่จะถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะที่มีกรดยูริกในเลือดสูง เปรียบเทียบกับ allopurinol ขนาด 3.5 มก./กก. พบว่า สารสกัดมีผลลดระดับของกรดยูริกและเอนไซม์ xanthine oxidase ในเลือด แต่ทั้งสารสกัดและ allopurinol ไม่มีผลยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase ในตับ ในหนูที่มีกรดยูริกในเลือดสูง จะมีปริมาณของตัวนำกลูโคส GLUT9 ในตับสูงด้วย ซึ่งพบว่า สารสกัดและ allopurinol จะลดระดับของ GLUT9 ในตับได้ ดังนั้นการทดลองนี้เป็นการสนับสนุนผลของสารสกัดจากเมล็ดลำไยที่มีการใช้ในการรักษาโรคเก๊าท์ โดยจะไปควบคุมการขนส่งเกลือยูเรต และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ xanthine oxidase

Am J Chin Med 2012;40:979-91.