ว่านไก่น้อยต้านโรคกระดูกพรุน

การศึกษาผลของสารสกัดจากว่านไก่น้อยในหนูแรทที่ถูกตัดรังไข่ พบว่าในหนูแรทที่ถูกตัดรังไข่ ซึ่งมีการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน จะมีความหนาแน่นของกระดูกต้นขาลดลง สูญเสียโครงสร้างเส้นใยกระดูก (Trabecular bone) และมีการขับแคลเซียมและฟอสฟอรัสออกทางปัสสาวะมาก ในขณะที่หนูแรทที่ถูกตัดรังไข่ และได้รับการป้อนฮอร์โมนเอสโตรเจน (17β-estradiol) ขนาด 25 ไมโครกรัม/กก./วัน หรือสารสกัดจากว่านไก่น้อย ขนาด 300 หรือ 500 มก./กก./วัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าหนูทั้ง 3 กลุ่มมีความหนาแน่นของกระดูกและมีโครงสร้างเส้นใยกระดูกมากกว่าในหนูที่ถูกตัดรังไข่ โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนและสารสกัดจากว่านไก่น้อยทำให้มีการขับแคลเซียมและฟอสฟอรัสออกทางปัสสาวะลดลง และทำให้ระดับ alkaline phosphatase, osteocalcin และ deoxypyridinoline ในเลือดลดลง ซึ่งสารเหล่านี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการสร้างและสลายกระดูก ยิ่งไปกว่านั้น สารสกัดจากว่านไก่น้อยทั้งสองขนาดยังไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงขนาดของมดลูก ในขณะที่มดลูดของหนูแรทที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมีขนาดใหญ่ขึ้น สรุปได้ว่า สารว่านไก่น้อยสามารถลดการสูญเสียโครงสร้างเส้นใยกระดูกและมวลกระดูกในหนูแรท และสามารถพัฒนาเป็นยาใช้รักษาโรคกระดูกพรุนในวัยหมดประจำเดือนได้

J Ethnopharmacology 2011;137:1083-88