ฤทธิ์ต้านเบาหวานของหนามแดง

การศึกษาฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัดเมทานอลจากผลหนามแดงดิบ และส่วนสกัดที่แยกได้จากสารสกัดเมทานอล ได้แก่ ส่วนสกัดเอทิลอะซีเตรท ส่วนสกัดอะซีโตน และส่วนสกัดที่ไม่ละลายในอะซีโตน ขนาด 200 และ 400 มก./กก. ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย alloxan (130 มก./กก.) เปรียบเทียบกับหนูที่ได้รับยา metformin (50 มก./กก.) และกลุ่มควบคุม พบว่าสารสกัดเมทานอลและส่วนสกัด รวมทั้งยา metformin มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนู เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยยา metformin จะให้ผลดีที่สุด ขณะที่ส่วนสกัดเอทิลอะซีเตรท ขนาด 400 มก./กก. จะให้ผลในการลดน้ำตาลดีกว่าสารสกัดเมทานอลและส่วนสกัดอะซีโตน เมื่อศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีพบว่าปริมาณสารโพลีฟีนอลิกในสารสกัดเมทานอลและส่วนสกัดเอทิลอะซีเตรท เท่ากับ 15.8 ± 1.2 มก. และ 18.55 ± 0.34 มก. แกลิค แอซิด/ก. สารสกัด ตามลำดับ และปริมาณฟลาโวนอยด์ในสารสกัดเมทานอลและส่วนสกัดเอทิลอะซีเตรท เท่ากับ 2.92 ± 0.03 มก. และ 1.53 ± 0.30 มก. รูทิน/ก. สารสกัด ตามลำดับ การที่ส่วนสกัดเอทิลอะซีเตรทมีฤทธิ์ดีกว่าสารสกัดเมทานอล เนื่องจากการแยกสารสกัดเมทานอลและทำให้บริสุทธิ์บางส่วนด้วยเอทิลอะซีเตรท จะมีผลทำให้เพิ่มระดับของการโพลีเมอไรเซชั่น (degree of polymerization) และการแยกของสาร secondary metabolites เช่น สเตียรอยด์ และโพลีฟีนอล จึงเป็นผลทำให้ฤทธิ์ในการต้านเบาหวานเพิ่มขึ้น

J Ethnopharmacol 2011;135:430-3.