ผลของสารสกัดจากรากพุดสวนในหนูที่มีการรับรู้ความจำไม่ดีจากการถูกเหนี่ยวนำด้วยสาร β-amyloid

การศึกษาในหนูเมาส์โดยแบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมป้อนสาร propylene glycol กลุ่มที่ 2, 3 และ 4 ป้อนสารสกัดรากพุดสวนขนาด 250, 500 และ 1,000 มก./กก./วัน ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่ 5 ป้อนยา galantamine ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ ขนาด 3 มก./กก./วัน นาน 28 วัน จากนั้นให้ฉีดสาร β-amyloid (เป็นสารที่จะไปทำลายสมองในเรื่องการรับรู้เกี่ยวกับความจำ) เข้าทางโพรงสมอง (intracerebroventricular) ขนาด 10 ไมโครลิตร หลังจากนั้น 7 วัน ทำการทดสอบการรับรู้ด้านความจำของหนูด้วยวิธี Morris water maze (MWM) และวิธี Step-down avoidance test พบว่าสารสกัดรากพุดสวนขนาด 500 และ 1,000 มก./กก. สามารถป้องกันการถูกทำลายของสมองด้านความจำจากการกระตุ้นด้วยสาร β-amyloid ในหนูเมาส์ได้ และมีผลลดระดับการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase (ซึ่งมีผลลดการทำลายสารสื่อประสาทชนิด acetylcholine ทำให้คงเหลือสาร acetylcholine ในสมองเพิ่มขึ้นโดยที่สาร acetylcholine จะมีส่วนสำคัญในเรื่องการเรียนรู้และความจำ) ซึ่งประสิทธิภาพของสารสกัดรากพุดสวนใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน galantamine ที่ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ จากการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่าสารสกัดรากพุดสวนมีศักยภาพพอที่จะพัฒนาไปเป็นยารักษาโรคความจำเสื่อมในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้

J Ethnopharmacol 2010;130:122-6.