ผลของการรับประทานสารสกัดจากชาเขียวต่อภาวะเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ และการทำงานของตับ ในอาสาสมัครเพศชาย

การศึกษาเพื่อประเมินค่าความปลอดภัย และวิเคราะห์ผลของการรับประทานสารสกัดชาเขียว (green tea polyphenols, GTP) ต่อภาวะเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ (cardiovascular disease, CVD) และการทำงานของตับ ทำการศึกษาในอาสาสมัครเพศชายจำนวน 33 คน โดยแบ่งกลุ่มอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ให้รับประทานสารสกัด GTP จำนวน 6 แคปซูลต่อวัน โดยแบ่งให้ครั้งละ 2 แคปซูลก่อนรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ (แต่ละวันจะได้รับสารสกัด GTP 714 มิลลิกรัม) เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มที่สอง ให้รับประทานยาหลอก ทำการเก็บตัวอย่างเลือดของอาสาสมัครทั้งก่อนและหลังการทดลอง เพื่อวิเคราะห์หาค่าในเลือดที่เป็นค่าบ่งชี้ถึงภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ และการทำงานของตับ ได้แก่ ค่าความดันโลหิต (blood pressure) ค่าไขมันในเลือด (plasma lipids) และค่า asymmetry dimethylarginine ผลจากการวิเคราะห์พบว่า อาสาสมัครกลุ่มแรกมีอัตราส่วนของ cholesterol ทั้งหมดต่อ HDL-cholesterol (High density lipoprotein-cholesterol) ลดลง หลังจากรับประทานสารสกัด GTP ส่วนค่าอื่นๆไม่มีความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังรับประทานสารสกัด GTP จากผลการทดลองครั้งชี้ให้เห็นว่าการรับประทานสารสกัด GTP ในปริมาณสูงเป็นเวลา 3 สัปดาห์มีความปลอดภัย แต่ไม่มีผลต่อภาวะความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดและหัวใจ ยกเว้นมีผลลดอัตราส่วนของ cholesterol ทั้งหมดต่อ HDL-cholesterol

J Nutr 2009; 139:58-62.