ฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดจากต้นกัญชง

การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบของสารสกัดน้ำ และสารสกัด 70% เอทานอลจากส่วนต่างๆ ของกัญชง (hemp; Cannabis sativa) ได้แก่ เมล็ดที่แกะเปลือกแล้ว ราก และลำต้น โดยทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH และ ABTS พบว่าสารสกัด 70% เอทานอลจากลำต้น มีฤทธิ์ดีที่สุดในการต้านอนุมูลอิสระ และมีปริมาณของสารโพลีฟีนอลและฟลาโวนอยด์สูงที่สุด เมื่อเทียบกับสารสกัดอื่นๆ การทดสอบต้านการอักเสบในเซลล์ macrophage RAW 264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยสารไลโปโพลีแซคคาไรด์ (lipopolysaccharide, LPS) พบว่าสารสกัด 70% เอทานอลจากลำต้น มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดีที่สุด โดยสารสกัดความเข้มข้น 50-400 มคก./มล. มีผลยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ และที่ความเข้มข้น 50-200 มคก./มล. มีผลลดระดับของสารก่อการอักเสบ ได้แก่ TNF-α, IL-1β IL-6 ยับยั้งการแสดงออกของโปรตีนและเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ได้แก่ p65, inducible nitric oxide synthase, cyclooxygenase-2, p38, c-Jun N-terminal kinase และ extracellular signal-regulated kinase ซึ่งฤทธิ์แปรผันตามความเข้มข้น นอกจากนี้ยังมีผลลดระดับของ reactive oxygen species (ROS) สำหรับการศึกษาผลต้านการอักเสบในหนูแรท โดยป้อนสารสกัด 70% เอทานอลจากลำต้น ขนาด 150 มก./กก. เป็นเวลา 10 วัน จากนั้นในวันที่ 10 เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยการฉีดสาร LPS เข้าทางช่องท้อง และป้อนสารสกัดอีกครั้ง ที่เวลา 30 นาที หลังจากฉีด LPS พบว่าสารสกัดมีผลลดระดับของ TNF-α และลดการแสดงออกของโปรตีนและเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการตายของเซลล์แบบ apoptosis ได้แก่ phospho-p53, cleaved caspase-3, cleaved poly (ADP-ribose) polymerase และ Bcl2 ในตับ ไต และม้ามของหนู การวิเคราะห์สารสำคัญในสารสกัด 70% เอทานอลจากลำต้น พบว่าประกอบด้วยสารหลายชนิดที่มีรายงานว่า มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และปรับระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ 2,3-dihydro-3,5-dihydroxy-6-methyl-4H-pyran-4-one, 4-((1E)-hydroxy-1-propenyl)-2-methoxyphenol, 2,3-dihydrobenzo-furan,α-linolenic acid, syringol เป็นต้น

J Med Food. 2022;25(4):408-17.