ฤทธิ์ในการรักษาแผลของสมุนไพรไทยในหลอดทดลอง

การทดสอบฤทธิ์ในการรักษาแผลของสมุนไพร 8 ชนิด ได้แก่ เปลือกผลมังคุด (Garcinia mangostana L.) รากชะเอมเทศ (Glycyrrhiza glabra L.) เมล็ดเทียนดำ (Nigella sativa L.) เปลือกต้นพิกุล (Mimusops elengi L.) ผลมะขามป้อมแห้ง (Phyllanthus emblica L.) ผลมะแว้งต้นแห้ง (Solanum indicum L.) ผลมะแว้งเครือแห้ง (Solanum trilobatum L.) และดอกตูมกานพลู (Syzygium aromaticum L.) สมุนไพรแต่ละชนิดนำมาสกัดด้วย 95% เอทานอลหรือสกัดด้วยน้ำกลั่น ทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง nitric oxide ด้วยเทคนิค nitric oxide production inhibition assay ในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวของหนู (murine macrophage leukemia cell line) RAW 264.7 ทดสอบฤทธิ์ยับยั้ง superoxide ด้วยเทคนิค superoxide anion radical reduction assay ในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (human promyelocytic leukemia cell line) HL-60 ทดสอบฤทธิ์ต่อการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังไฟโบรบลาสต์ ในเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนไฟโบรบลาสต์ของหนู (murine embryonic fibroblast cell line) 3T3-CCL92 และทดสอบและการปิดของรอยแผล (wound closure) ในเซลล์ 3T3-CCL92 ด้วยเทคนิค scratch wound closure assay แล้ววัดการลดดลงของรอยแผลด้วย ImageJ software ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลของเปลือกมังคุด ชะเอมเทศ และเทียนดำ มีฤทธิ์ยับยั้ง superoxide anion ด้วยค่า IC50 เท่ากับ 13.97 ± 0.38, 28.62 ± 1.91 และ 71.54 ± 3.22 มคก./มล. และยับยั้ง nitric oxide ด้วยค่าIC50 เท่ากับ 23.97 ± 0.91, 46.35 ± 0.43 และ 78.48 ± 4.46 มคก./มล. ตามลำดับ มีฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ และเร่งการฟื้นฟูของรอยแผลที่อัตรา 2.02 ± 0.03, 2.12 ± 0.03 และ 2.65 ± 0.05% /ชม. ตามลำดับ

Evid Based Complement Alternat Med. 2020;2020:6795383. doi: 10.1155/2020/6795383.