ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและผลต่อเซลล์ผิวหนังของสีจากดอกไม้

การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและผลต่อเซลล์ผิวหนังของสารสกัด 20% เอทานอลจากดอกบานไม่รู้โรย (Gomphrena globasa L.; GGE), ดอกอัญชัน (Clitoria ternatea L.; KTE), ดอกคำฝอย (Carthamus tinctorius L.; CTE), ดอกทับทิม (Punica granatum L.; PGE) และดอกป๊อปปี้แดง (Papaver rhoeas L.; PRE) (พืชเหล่านี้มีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง) โดยทำการศึกษาในหลอดทดลองและในอาสาสมัครมีรายละเอียดดังนี้ การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH radical scavenging assay โดยใช้สารสกัดความเข้มข้น 100 มคก./มล. พบว่า สารสกัด PRE ออกฤทธิ์ดีที่สุด การทดสอบด้วยวิธี ABTS+ scavenging assay โดยใช้สารสกัดความเข้มข้น 100 มคก./มล. พบว่า สารสกัด PGE ออกฤทธิ์ดีที่สุด การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง reactive oxygen species (ROS) ในเซลล์ผิวหนัง fibroblasts และ keratinocytes โดยใช้สารสกัดความเข้มข้น 500 มคก./มล. พบว่า สารสกัด KTE และ CTE ออกฤทธิ์ดีที่สุด การทดสอบฤทธิ์ชะลอวัยของผิวหนังด้วยการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ elastase และ collagenase (เป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของผิวหนัง) โดยใช้สารสกัดความเข้มข้น 250 มคก./มล. พบว่า สารสกัด PGE และ CTE ออกฤทธิ์ดีที่สุด การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ในเซลล์ผิวหนัง fibroblasts และ keratinocytes (ใช้สารสกัดความเข้มข้น 50, 250, และ 500 มคก./มล.) ด้วยวิธี alamar blue assay พบว่า สารสกัด KTE ขนาด 50 มคก./มล. และสารสกัด GGE ทุกขนาด ทำให้อัตราการรอดชีวิตของเซลล์ fibroblasts ลดลง ในขณะที่สารสกัด KTE ขนาด 250, 500 มคก./มล. และสารสกัด GGE ขนาด 500 มคก./มล. ทำให้อัตราการรอดชีวิตของเซลล์ keratinocytes ลดลง การทดสอบด้วยวิธี neutral red uptake assay พบว่า สารสกัด PRE ขนาด 50 มคก./มล. และสารสกัด GGE ทุกขนาด ทำให้อัตราการรอดชีวิตของเซลล์ fibroblasts ลดลง ในขณะที่สารสกัด KTE ขนาด 500 มคก./มล. และสารสกัด GGE ขนาด 250, 500 มคก./มล. ทำให้อัตราการรอดชีวิตของเซลล์ keratinocytes ลดลง แต่เซลล์ทั้งหมดมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่า 90% การทดสอบหาค่าการป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) หรือ sun protection factor (SPF) โดยใช้สารสกัดความเข้มข้น 50 มก./มล. พบว่า สารสกัด KTE และ CTE ออกฤทธิ์ดีที่สุด โดยมีค่า SPF∼31 การทดสอบการเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวด้วยการวัดค่า skin hydration และ transepidermal water loss (TEWL) ในอาสาสมัครจำนวน 15 คน โดยทาสารสกัดต่างๆ ความเข้มข้น 10 มก./มล. ขนาด 0.2 มล. บริเวณท้องแขนของอาสาสมัคร ในขนาดพื้นที่ 2 x 2 ซม. ทิ้งไว้ 30 นาที หลังจากนั้นจึงตรวจวัดระดับความชื้น (hydration level) และค่า TEWL ที่เวลา 60 และ 360 นาที พบว่าสารสกัด PGE เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังได้ดีที่สุด และสารสกัด PRE สามารถป้องกันการสูญเสียน้ำของผิวหนังได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม จากผลการทดลองทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า สีที่สกัดได้จากดอกไม้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ชะลอวัยให้ผิวหนังโดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ elastase และ collagenase มีความเป็นพิษต่อเซลล์ต่ำ ช่วยปกป้องผิวจากรังสี UV และช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

Molecules.2021;26:2809. doi:10.3390/molecules26092809.