ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ arginase ของสารฟลาโวนอยด์จากใบหม่อน

เอนไซม์ arginase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยน L-arginine เป็น L-ornithine และยูเรียในกระบวนการทําลายพิษที่เกิดจากแอมโมเนียของร่างกาย (ammonia detoxification) นอกจากนี้ L-arginine ยังเป็นสารตั้งต้นเพื่อให้เอนไซม์ nitric oxide synthase (iNOS) เปลี่ยนให้เป็น ciltrulline และ nitric oxide (NO) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขยายตัวของหลอดเลือด ซึ่งหากร่างกายมีปริมาณ arginase สูงเกินไปจะมีผลแย่งกับ iNOS ในการจับกับ L-arginine ทำให้การสร้าง NO ลดลง และอาจเป็นสาเหตุของความผิดปกติของระบบหลอดเลือดได้ ในการศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ arginase จากใบหม่อน (Morus alba L.) พบว่าสารสกัดเมาทานอลจากใบหม่อนมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ arginase ผลจากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีพบว่าสารสกัดดังกล่าวประกอบด้วยสารโพลีฟีนอลิค 10 ชนิด เมื่อนำสารเหล่านี้ที่ความเข้มข้น 100 ไมโครโมลาร์ มาทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ arginase พบสารสำคัญ 4 ชนิดที่สามารถยับยั้งเอนไซม์ได้ ด้วยค่าการยับยั้ง 54-83% และผลการทดสอบในเซลล์ aortic ring ของหนูแรทที่บ่มด้วย NO synthase inhibitor พบว่าสาร luteolin-7-diglucoside สารฟลาโวนอยด์ที่พบในใบหม่อนมีผลทำให้หลอดเลือดคลายตัวและเสริมฤทธิ์ของ acethycholine การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสารฟลาโวนอยในใบหม่อนอาจมีศักยภาพในการนำไปพัฒนาเพื่อบรรเทาอาการระบบหลอดเลือดได้ในอนาคต

J Pharm Pharmacol. 2020. doi:10.1111/jphp.13297