สารแอนโทไซยานินสกัดจากมันม่วงกับฤทธิ์ป้องกันการเกิดตับอักเสบจากแอลกอฮอล์

สารสกัดแอนโทไซยานินจากมันม่วง หรือ มันเทศสีม่วง ชนิด Ipomoea batatas cv. Ningzi 4 (purple sweet potatoes anthocyanins; PSPA) ถูกพบว่าส่วนมากเป็นสารไซยานิดิน (cyanidin) ซึ่งได้ถูกนำไปศึกษาฤทธิ์ป้องกันตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ โดยมีการทดลองในหนูเม้าส์เพศผู้สายพันธุ์ C57BL/6 จำนวน 50 ตัว แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ตัว โดยกลุ่มทดลองได้รับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผสมสาร PSPA ในขนาด 50 มก./นน.ตัว 1 กก. (ขนาดต่ำ), 100 มก./นน.ตัว 1 กก. (ขนาดกลาง), หรือ 300 มก./นน.ตัว 1 กก. (ขนาดสูง) ในขณะที่กลุ่มควบคุมได้รับแอลกอฮอล์ (52%) เพียงอย่างเดียวโดยเพิ่มปริมาณของแอลกอฮอล์ทุก 2 สัปดาห์ และอีกกลุ่มไม่ได้รับสารอะไรเลยเพื่อเปรียบเทียบผล เมื่อติดตามผลเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ พบว่า หนูที่ได้รับ PSPA ในขนาด 100 มก./นน.ตัว 1 กก.(ขนาดกลาง) มีระดับ ALT = 53.71 U/L ซึ่งใกล้เคียงกับกลุ่มหนูปกติที่ไม่ได้รับสารอะไรเลย (ALT = 49.88 U/L) ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียวมีค่า ALT = 94.00 U/L พยาธิวิทยาของตับหนูกลุ่มที่ได้รับแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียวพบว่ามีการตายของเนื้อเยื่อตับและมีความผิดปกติของไขมันในตับ (hepatocellular necrosis, fat degeneration in liver cells, but no hepatic fibrosis) ส่วนกลุ่มที่ได้รับ PSPA ขนาดกลาง (100 มก./นน.ตัว 1 กก.) พยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อตับดีขึ้นและภาวะความเครียดจากการออกซิเดชั่น (oxidative stress status) ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ได้รับแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามการได้รับสาร PSPA ในขนาดสูง (300 มก./นน.ตัว 1 กก.) กลับทำให้เกิดพิษต่อตับ โดยทำให้ระดับ malondialdehyde (MDA) ซึ่งเป็นสารอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น และทำให้สารต้านออกซิเดชั่น glutathione (GSH) ลดลง จากการวิเคราะห์ทางเคมีคาดว่าอนุพันธ์ของ cyanidin ซึ่งมีโครงสร้างที่ประกอบด้วย ortho-hydroxyl ที่ตำแหน่ง B-ring อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเครียดจากการออกซิเดชั่น (oxidative stress) ในตับหนูที่ได้รับ PSPA ในขนาดสูง การศึกษานี้สรุปว่า PSPA ในขนาดกลางช่วยป้องกันตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ได้ โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งเอนไซม์ alanine aminotransferase จากเซลล์ตับ และปรับสมดุลของการเกิดออกซิเดชั่น หากต้องการนำ PSPA มาพัฒนาเพื่อใช้บรรเทาความผิดปกติของตับที่เกิดจากแอลกอฮอล์ ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมและเลือกขนาดที่ใช้ให้เหมาะสม

Food Chem. 2018;245:463–70.