ผลของความร้อนในการสกัดกระเจี๊ยบแดงต่อสารสำคัญและฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase

การเปรียบเทียบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ของสารสกัดกระเจี๊ยบแดง (Hibiscus sabdariffa Linn.) ที่ได้จากการสกัดผงกระเจี๊ยบแดงแห้ง 2 กรัม ด้วยน้ำกลั่น 200 มล. โดยวิธีที่แตกต่างกัน 3 วิธี คือ 1. วิธีต้ม (ต้มผงกระเจี๊ยบแดงในน้ำเดือดนาน 5 นาที) 2. วิธีชง (เติมน้ำเดือดลงในผงกระเจี๊ยบแดง แช่ทิ้งไว้ 5 นาที) และ 3. วิธีหมัก (หมักผงกระเจี๊ยบแดงในน้ำโดยกวนน้ำที่ความเร็ว 100 รอบ/นาที นาน 5 นาที และเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4oC นาน 1 คืน) สารสกัดที่ได้จากแต่ละวิธีจะถูกกรองและทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง (lyophilization) และเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ -20oC ก่อนนำมาทดสอบ โดยการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีด้วย ultra-high performance liquid chromatography-mass spectrometry (UHPLC-MS) และ nuclear magnetic resonance (NMR) เพื่อดูปริมาณของน้ำตาล สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) แอนโทไซยานิน (anthocyanins) ฟีโนลิก (phenolic) และกรดอินทรีย์ (organic acids) พบว่าการสกัดด้วยวิธีที่ไม่ใช้ความร้อน หรือการหมักจะได้สารกลุ่มแอนโทไซยานินมากที่สุด ส่วนการสกัดด้วยวิธีชงจะได้กรดอินทรีย์มากที่สุด และพบว่าสารสกัดจากวิธีหมักมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ได้ดีกว่าสารสกัดโดยวิธีชงและวิธีต้ม และสารสกัดกระเจี๊ยบมีประสิทธิภาพดีกว่ายา acarbose นอกจากนี้ยังพบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนของประสิทธิภาพในการยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ต่อสาร delphinidin และสาร hibiscus acid ในสารสกัดจากวิธีหมัก และวิธีชงตามลำดับ และพบความสัมพันธ์ของการยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase กับสาร hydroxycitric และ cinnamate ในสารสกัดจากวิธีต้มแต่ผลไม่ชัดเจน จากผลการทดลองทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าความร้อนในกระบวนการสกัดมีผลต่อชนิดและปริมาณสารสำคัญในสารสกัดกระเจี๊ยบแดง และทำให้ประสิทธิภาพในการยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ลดลง ดังนั้นหากต้องการฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของกระเจี๊ยบแดงควรสกัดโดยไม่ใช้ความร้อน

หมายเหตุ: เอนไซม์ α-glucosidase ทำหน้าที่เปลี่ยนสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตไปเป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็ก จากนั้นจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น

Food Chem. 2018;250:236–44.