ฤทธิ์สมานแผลของหญ้าแพรก

การศึกษาถึงองค์ประกอบของสารสกัดน้ำจากหญ้าแพรก (Cynodon dactylon L.) พบสารสำคัญเป็นสารประกอบฟีนอลลิกและสารฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง และไม่พบความเป็นพิษทั้งแบบเฉียบพลัน และกึ่งเรื้อรังเมื่อป้อนสารสกัดขนาด 2 ก./กก. น้ำหนักตัวแบบครั้งเดียว และป้อนที่ขนาด 2.5 ก./กก. น้ำหนักตัว ติดต่อกัน 21 วัน รวมถึงไม่พบความเป็นพิษต่อผิวหนังเมื่อทาขี้ผึ้งที่เตรียมจากสารสกัดน้ำของหญ้าแพรกที่ความเข้มข้นความเข้มข้น 15% โดยน้ำหนัก (w/w) ติดต่อกัน 14 วัน การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าขี้ผึ้งที่เตรียมจากสารสกัดน้ำของหญ้าแพรกมีฤทธิ์สมานแผลในหนูแรทมีแผลแบบถูกเจาะ (punch wound) โดยสามารถลดขนาดแผล ลดระยะเวลาที่แผลหาย และเพิ่มความยืดหยุ่นของแผล รวมทั้งกระตุ้นการสร้างเซลล์เยื่อยุผิว การสร้างคอลลาเจนบริเวณแผล กระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่บริเวณแผลได้ใกล้เคียงกับการใช้ยาฟรามัยเซติน (framytecin sulfate 1%) และดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อให้อาสาสมัคร 12 คน ที่มีแผลเรื้อรังบริเวณบริเวณฝ่าเท้า ขนาด 15-25 มม. ทายาขี้ผึ้งหญ้าแพรก วันละ 1 ครั้ง สามารถรักษาแผล กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อแกรนูเลชัน (granulation) และเซลล์เยื่อบุผิวบริเวณแผลเพิ่มขึ้นได้เช่นเดียวกับการใช้ยาฟรามัยเซติน การศึกษานี้จึงแสดงให้เห็นว่าสารประกอบฟีโนลิกและฟลาโวนอยด์จากหญ้าแพรกมีฤทธิ์สมานแผล โดยเกี่ยวข้องกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและกระตุ้นกระบวนการสร้างคอลลาเจนบริเวณบาดแผล

J Ethnopharmacol 2017;197:128-37