ฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัดจากเยื่อหุ้มเมล็ดกาแฟ

การศึกษากลไกการออกฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัดจากเยื่อหุ้มเมล็ดกาแฟ (coffee silverskin extract; CSE*) พันธุ์อาราบิก้า (Coffea arabica) และสารสำคัญที่เป็นส่วนประกอบคือ สาร chlorogenic acid (CGA) และสาร caffeine (CF) โดยทำการศึกษาผลต่อการหลั่งอินซูลินและการเกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ในเบต้าเซลล์ของตับอ่อนชนิด INS-1E ภายใต้ภาวะปกติและภาวะที่ทำให้เกิดความเครียด จากการทดลองพบว่า ทั้ง CSE, CGA และ CF ไม่มีผลต่อภาวะออกซิเดชันและความอยู่รอดของเซลล์ภายใต้ภาวะปกติ แต่สาร CSE ที่ความเข้มข้น ≥ 1 มคก./มล. และสาร CGA ที่ความเข้มข้น ≥ 5 ไมโครโมลาร์ ทำให้ระดับของเอนไซม์ glutathione peroxidase (เกี่ยวข้องกับการต้านอนุมูลอิสระ) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และสาร CSE ที่ความเข้มข้น 1–10 มคก./มล. และสาร CGA ที่ความเข้มข้น 10 ไมโครโมลาร์ มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินในเซลล์ที่มีน้ำตาลกลูโคสขนาด 4 และ 10 มิลลิโมลาร์อย่างชัดเจน นอกจากนี้สาร CSE ที่ความเข้มข้น 1 มคก./มล. และสาร CGA ที่ความเข้มข้น 10 ไมโครโมลาร์ ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการต้านอนุมูลอิสระพร้อมทั้งเพิ่มการหลั่งอินซูลินของเบต้าเซลล์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความเครียดด้วยยา streptozotocin (สารเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะเบาหวาน) ในขณะที่สาร CF ไม่มีฤทธิ์ดังกล่าวเลย จึงคาดว่าฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสาร CSE น่าจะเกิดจากสาร CGA จากผลการทดลองข้างต้นทำให้สามารถสรุปได้ว่า สารสกัดจากเยื่อหุ้มเมล็ดกาแฟซึ่งมีกลไกต้านอนุมูลอิสระและกระตุ้นการหลั่งอินซูลินนั้น สามารถนำไปพัฒนาเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สำหรับต้านเบาหวานได้

*CSE มี CGA และ CF เป็นส่วนประกอบอยู่ 11.18 มก./ก. และ 30.26 มก./ก. ตามลำดับ

Food Res Int 2016;89:1015-22.