ประสิทธิภาพของสารสกัดบ๊วยต่อการปกป้องตับ การต้านออกซิเดชัน และการต้านการอักเสบ

การศึกษาทางคลินิกแบบ double-blind, placebo-controlled ในอาสาสมัครสุขภาพดี 45 คน อายุ 56.0±11.6 ปี ที่มีค่าการทำงานของตับ transaminase ระหว่าง 20-40 UI/L โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 และ 2 ให้รับประทานสารสกัดมาตรฐานของบ๊วย (Prunus mume) ขนาด 150 และ 300 มก./วัน ตามลำดับ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม เป็นเวลา 3 เดือน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดบ๊วยมีฤทธิ์ปกป้องตับโดยลดปริมาณของ alanine aminotransferase (ALT) ร้อยละ 47 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเริ่มต้นทำการทดสอบ, ลด aspartate aminotransferase (AST) ร้อยละ 7 และลด gamma-glutamyl transpeptidase ร้อยละ 15 นอกจากนี้สารสกัดบ๊วยยังมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด (glycemia) ร้อยละ 11 และมีผลในการเปลี่ยนแปลงระดับไขมันโดยเพิ่มระดับของคอเลสเตอรอลชนิด HDL ร้อยละ 13, ลดอัตราส่วนของ LDL/HDL ร้อยละ 12 และลดระดับไตรกลีเซอไรด์ร้อยละ 8 สารสกัดบ๊วยยังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระโดยพบว่ามีผลลดปริมาณของ oxidized glutathione, ลดอัตราส่วนของ reduced/oxidized cysteine-glycine, ลดระดับ oxidized cysteine (intracellular pro-oxidant) และเพิ่มปริมาณของ reduced glutathione รวมทั้งลดระดับของ neopterin ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ จากผลการทดสอบจึงสรุปได้ว่าสารสกัดมาตรฐานของบ๊วยมีฤทธิ์ปกป้องการทำงานของตับและอาจช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางเมตาบอลิซึม และการอักเสบ โดยจะต้องมีการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติมต่อไป

Phytother Res 2016;30(6):949-55.