ฤทธิ์ยับยั้งการเสื่อมสลายของกระดูกอ่อนและต้านการอักเสบของสารสกัดจากผลทับทิม

การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเสื่อมสลายของกระดูกอ่อนและต้านการอักเสบของสารสกัดเอทานอลจากผลทับทิม (pomegranate fruit extract; PFE) ในกระต่ายที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดโรคข้อเสื่อม(osteoarthritis; OA) จากการผ่าตัด โดยกลุ่มแรก ให้กิน PFE ที่ละลายอยู่ในน้ำดื่ม ขนาด 34 มก./กก./วัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์หลังการผ่าตัด และกลุ่มที่ 2 ให้กิน PFE ที่ละลายอยู่ในน้ำดื่ม ขนาด 34 มก./กก./วัน ก่อนการผ่าตัด 2 สัปดาห์ และหลังผ่าตัด 8 สัปดาห์ เปรียบเทียบผลที่ได้กับกระต่ายที่ให้กินเพียงน้ำเปล่า จากผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่ได้รับ PFE มีการเกิด safranin-O-staining และการรวมตัวของเซลล์กระดูกอ่อน (chondrocyte cluster formation) (ตัวชี้วัดการเสื่อมสลายของกระดูก) ที่บริเวณเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า (anterior cruciate ligament) ลดลง การแสดงออกของ matrix metalloproteinases (MMP)-3, MMP-9, และ MMP-13 (ตัวชี้วัดการเกิดการอักเสบ) ที่บริเวณกระดูกอ่อน (cartilage) ลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับน้ำเปล่า และกลุ่มที่ได้รับ PFE จะมีระดับของ interleukin (IL)-6, MMP-13 และ prostaglandin (PG) E2 (ตัวชี้วัดการเกิดการอักเสบ) ภายในน้ำไขข้อ (synovial fluid) และน้ำเลือด ลดลงด้วย นอกจากนี้กลุ่มที่ได้รับ PFE ยังมีการแสดงออกของ aggrecan และ type II collagen (COL2A1) (ตัวชี้วัดการเกิดการสร้างกระดูก) เพิ่มขึ้น ซึ่งกระต่ายที่ได้รับน้ำเปล่าจะมีจำนวนของเซลล์กระดูกอ่อน (chondrocytes) ที่บ่งชี้ถึงการเกิดการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส (apoptosis) ที่บริเวณข้อต่อ เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ PFE และการทดลองในหลอดทดลองกับเซลล์กระดูกอ่อนของกระต่ายพบว่า PFE สามารถยับยั้งการแสดงออกของ IL-6 และ MMP รวมทั้งการสร้าง PGE2 ซึ่งเป็นสารก่อการอักเสบ จากการเหนี่ยวของ IL-1β ได้ โดยมีกลไกเดียวกับสารยับยั้ง MMP-13, mitogen-activated protein kinase (MAPK) และ nuclear factor (NF)-κB จากผลการทดลองข้างต้นทำให้สามารถสรุปได้ว่าสารสกัดเอทานอลจากผลทับทิมมีฤทธิ์ปกป้องกระดูกอ่อนซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคข้อเสื่อม

Nutrition 2017;33:1-13.