ฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัด charantin จากผลมะระขี้นก

ศึกษาฤทธิ์ต้านเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และ 2 ของสารสกัด charantin จากผลมะระขี้นก (Momordica charantia ) โดยทดลองป้อนสารสกัด charathin ขนาด 200 มก./กก./วัน ให้กับหนูเม้าส์สายพันธุ์ KK/HIJ ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยการให้อาหารที่มีไขมันสูง (high-fat diet) และหนูเม้าส์สายพันธุ์ ICR ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ด้วยการฉีด streptozotocin ขนาด 150 มก./กก. เข้าทางช่องท้อง ใช้ระยะเวลาในการทดลองนาน 8 สัปดาห์ ผลการศึกษาที่ได้พบว่า สารสกัด charantin มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดและลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) ในหนูเม้าส์กลุ่มเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ไม่พบความเปลี่ยนแปลงของค่าดังกล่าวในหนูเม้าส์กลุ่มเบาหวานชนิดที่ 1 นอกจากนี้สารสกัด charantin ยังมีผลลดระดับอินซูลินในเลือด และเพิ่มความไวของเนื้อเยื่อต่ออินซูลิน (insulin sensitivity) โดยพบว่ามีการแสดงออกของโปรตีน glucose transporter 4 (GLUT4) ในเซลล์กล้ามเนื้อ และ Insulin receptor substrate 1 (IRS-1) ในตับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผลดังกล่าวพบได้เฉพาะในหนูเม้าส์กลุ่มเบาหวานชนิดที่ 2 เท่านั้น และผลการศึกษาในหลอดทดลอง (in vitro) ถึงฤทธิ์ปกป้องเซลล์เบต้าของตับอ่อน (pancreatic β cells) ที่ทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน พบว่าสารสกัด charantin สามารถยับยั้งความเสียหายของเซลล์ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยกลูโคสขนาดสูงได้เพียงในช่วง 24 ชั่วโมงแรกของการเลี้ยงเซลล์เท่านั้น ผลจากการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามะระขี้นกมีฤทธิ์ต้านเบาหวาน และให้ผลดีในเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าชนิดที่ 1

Food Chem Toxicol 2014; 69: 347-56