ฤทธิ์ป้องกันตับเป็นพิษของอินทผลัม (Phoenix dactylifera )

ศึกษาฤทธิ์ป้องกันตับเป็นพิษของสารสกัดน้ำจากเมล็ดอินทผลัม ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะตับเสียหายจากการฉีดสาร carbon tetrachloride (CCl4) เข้มข้น 10% ในน้ำมันมะกอก ขนาด 0.5 มล. เข้าทางช่องท้อง ในการทดลอง แบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม ได้รับน้ำมันมะกอก 0.5 มล. 2 ครั้ง/สัปดาห์ กลุ่มที่ 2 – 5 ฉีดสาร CCl4) 2 ครั้ง/สัปดาห์ ในกลุ่มที่ 3 ป้อนสาร silymarin ขนาดวันละ 50 มก./กก. น้ำหนักตัว กลุ่มที่ 4 ป้อนสารสกัดน้ำเมล็ดอินทผลัมขนาด 1 ก./กก. น้ำหนักตัว และในกลุ่มที่ 5 ป้อนสารสกัดน้ำเมล็ดอิทผลัมที่ผ่านการคั่วแล้วขนาด 1 ก./กก. น้ำหนักตัว นาน 4 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดการทดลองทำการเก็บตัวอย่างเลือดหนูเพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมี และเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อตับเพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงด้วยเทคนิคทางจุลพยาธิวิทยา (histopathological examination) ผลจากการทดลองพบว่าสารสกัดน้ำจากเมล็ดอินทผลัมทั้งแบบดิบและแบบคั่ว ช่วยปกป้องความเสียหายของเซลล์ตับที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วย CCl4) ได้ ผลจากการตรวจวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมีในเลือดพบว่า หนูที่ได้รับสารสกัดน้ำจากเมล็ดอิทผลัมทั้งสองแบบมีค่าเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตับได้แก่ alanin aminotransferase (ALT), aspartate aminotransferase (AST) และ alkaline phosphatase (ALP) ลดระดับมาอยู่ในช่วงปกติ และมีค่า albumin เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัยเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ฉีด CCl4) อย่างเดียว นอกจากนี้ การป้อนสารสกัดน้ำจากเมล็ดอินทผลัมทั้งสองแบบยังมีผลเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ superoxide dismutase และ glutathione S-transferase ในตับ ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ และมีผลยับยั้ง nitric oxide และ thiobarbituric acid reactive substance (TBARS) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงการเกิดอนุมูลอิสระได้ จากผลการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสารสกัดน้ำจากเมล็ดอินทผลัมมีฤทธิ์ป้องกันตับเป็นพิษจากการเหนี่ยวนำด้วย CCl4) และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

J Ethnopharmacol. 2014; 155(1): 736-43