คำถาม : พญากับทานาคา และพญายอ
  • พญากับทานาคานี้คือตัวเดียวกันใช่ไหมค่ะ เขาว่าพญายอ สรรพคุณลดไข้ แต่ไม่มีใครนิยมเห็น แต่เอามา ขัด พอกผิว เลยไม่กล้านำมากินค่ะ รบกวนช่วยตอบกระจ่างด้วยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ
  • Date : 31/3/2561 16:45:00
คำตอบ : พญา ในที่นี้น่าจะหมายถึง พญายา หรือ ทานาคา หรือ กระแจะ ซึ่งล้วนเป็นพืชต้นเดียวกันค่ะ โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hesperethusa crenulata (Roxb.) Roem. และมีชื่อพ้องว่า Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson เป็นพืชวงศ์ RUTACEAE (วงศ์เดียวกับมะนาว) ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-8 ม. กิ่งก้านมีหนาม ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 4-13 ใบ รูปวงรีแกมไข่กลับ กว้าง 1.5-3 ซม. ยาว 2-7 ซม. ก้านใบแผ่เป็นปีก ดอกช่อออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาว ผลสด รูปทรงกลม พบในเขตร้อนชื้นของเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยและเมียนม่าร์ ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง สรรพคุณ ใบ แก้ลมบ้าหมู ราก เป็นยาถ่าย ผล เป็นยาบำรุง แก่น ดองเหล้ากินแก้กษัย โลหิตพิการ ดับพิษร้อน ยาพื้นบ้าน ใช้ส่วนต้นต้มน้ำดื่ม ครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น แก้ปวดตามข้อ ปวดเมื่อย เส้นตึง แก้ร้อนใน แก้โรคประดง
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของทานาคาได้ที่ http://medplant.mahidol.ac.th/document/hotnews.asp?id=17

ส่วน พญายอ หรือชื่ออื่นๆ คือ พญาปล้องทอง, เสลดพังพอนตัวเมีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau ชื่อพ้องคือ Clinacanthus burmanni Nees, Clinacanthus siamensis Bremek เป็นพืชในวงศ์ ACANTHACEAE ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่มแกมเถา ลำต้นและกิ่งก้านเกลี้ยงเป็นมันสูงได้ถึง 3 เมตร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานหรือขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 2-3 ซม. ยาว 7-9 ซม. โคนใบมน ปลายใบแหลม ก้านใบยาว 0.5 ซม. ดอกช่อออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด กลีบดอกสีแดงเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 2 ปาก ยาว 3-4 ซม. ไม่ติดฝัก สรรพคุณ ต้น แก้บิด ใบ ดับพิษไฟลวก น้ำร้อนลวก ดับพิษปวดแสบ รักษาอาการเนื่องจากแมลงกัดต่อยและโรคเริม การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ใบของพญาปล้องทอง มีสารประกอบฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ต้านการอักเสบ บรรเทาปวด รวมทั้งมีฤทธิ์ต้านไวรัสเริม และไวรัส Varicella zoster ที่เป็นสาเหตุโรคงูสวัดและอีสุกอีใส
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของพญายอได้ที่ http://medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/clinacan.html