คำถาม : วิธีการสกัดสมุนไพร
  • ต้องการสกัดสมุนไพร เช่นใบน้อยหน่า สะเดา ใบสาบเสือ เพื่อใช้ในการกำจัดเหาให้กับนักเรียนมีวิธีไหนบ้างคะ ต้องการนำไปสอนทำโครงงาน ต้องใช้ตัวทำละลายตัวไหนดี และหากต้องใช้เอธิลแอลกอฮอล์กับเหล้าขาวอย่างไหนปลอดภัย และถ้าใช้เอธิลแอลกอฮอล์ควรใช้กี่เปอร์เซ็นต์
  • Date : 9/11/2559 17:32:00
คำตอบ : มีการวิจัยเกี่ยวกับการฆ่าเหามีดังนี้

สารสกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ คลอโรฟอร์ม และเอทานอลจากใบและเมล็ด ผสมในน้ำมันมะพร้าวในสัดส่วนต่างๆ จะมีฤทธิ์ฆ่าเหา โดยสารสกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์จะออกฤทธิ์ดีที่สุด ส่วนของเมล็ดจะมีฤทธิ์ดีกว่าใบ และสารสกัดที่ได้จากเมล็ดน้อยหน่าบดกับสัดส่วนน้ำมันมะพร้าวในอัตราส่วน 1:2 จะให้ผลดีที่สุด สามารถฆ่าเหาได้ร้อยละ 98 การทดสอบในอาสาสมัครที่ลองใช้ครีมหมักผมซึ่งมีสารสกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์จากเมล็ดในความเข้มข้นร้อยละ 20 พบว่าให้ผลฆ่าเหาได้ดีกว่ายา 25% benzyl benzoate emulsion ซึ่งเป็นยาที่ใช้ฆ่าเหาโดยทั่วไป แต่ครีมที่เก็บไว้เป็นเวลานานจะมีประสิทธิภาพลดลง แต่ยังคงมากกว่าร้อยละ 70 อย่างไรก็ตามการสกัดต้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ คลอโรฟอร์ม และเอทานอลจะต้องระเหยตัวทำละลายออกให้หมดก่อน แล้วนำสารสกัดแห้งที่ได้ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่นครีมหมักผม ดังในรายงานวิจัย

นอกจากนี้ตามหนังสือบัญชียาหลักแห่งชาติ แนะนำว่า
การใช้น้อยหน่ารักษาเหาตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1. นำใบน้อยหน่า 3-4 ใบ ตำให้ละเอียดคลุกกับเหล้าขาวหรือเหล้าโรง คั้นเอาแต่น้ำมาทาให้ทั่วศีรษะ แล้วใช้ผ้าคลุมไว้ 10 นาที แล้วใช้หวีสางออก
2. บดเมล็ดน้อยหน่ากับน้ำมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:2 กรองเอาน้ำไปทาให้ทั่วศีรษะ ใช้ผ้าโพกไว้ 1-2 ชั่วโมง

ข้อควรระวัง
การใช้ควรระวังไม่ให้น้ำยาเข้าตา เพราะจะทำให้เยื่อบุตาอักเสบได้ หากเข้ามากอาจทำให้ตาบอดได้ และหากต้องการสกัดด้วยเอทานอลหรือเอธิลแอลกอฮอล์แล้วนำไปใช้โดยตรง ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขนั้นควรใช้เอทานอลไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากในคำแนะนำสกัดด้วยเหล้าขาวซึ่งมีเอทานอลประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ และหากใช้เอทานอลเปอร์เซ็นต์สูงเกินไปอาจจะเป็นอันตรายต่อหนังศีรษะและตา

ส่วนใบสะเดา และใบสาบเสือ ไม่มีรายงานวิจัยเกี่ยวกับการฆ่าเหา

หากต้องการรายละเอียดสามารถมาสืบค้นได้ที่สำนักงานข้อมูลสมุนไพรค่ะ ซึ่งจะมีค่าบริการค่ะ

ที่มา : ฐานข้อมูลสมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน