คำถาม : ชากระเจี๊ยบและโรคความดันโลหิตสูง
  • มีสมาชิกในครอบครัว (เพศชาย อายุ 50 ปี) ป่วยเป็นโรคความดันสูง ขอเรียนสอบถามดังนี้ค่ะ
    - ชาชงกระเจี๊ยบ สรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตสูง และคอเลสตอรอล ถ้าดื่มชากระเจี๊ยบทุกวัน วันละประมาณ 1-2 แก้ว ดื่มติดต่อกันระยะเวลายาวนาน จะมีผลข้างเคียงต่อร่างกายไหมค่ะ และมีผลการวิจัยรองรับไหมค่ะ ว่ากระเจี๊ยบช่วยลดความดันโลหิตสูงได้
    - มีสมุนไพรชนิดอื่นอีกไหมค่ะ ที่ผลิตในรูปชา ที่สามารถลดความดันโลหิตสูงได้และปลอดภัยต่อการบริโภค ช่วยแนะนำเพิ่มเติมด้วยค่ะ
    ขอขอบพระคุณในคำตอบล่วงหน้ามากค่ะ เพราะจะเป็นประโยชน์ในการใช้สมุนไพรเป็นเครื่อมือรักษาผสมผสานร่วมกับยาแพทย์แผนปัจจุบัน ถ้าได้คำตอบในแง่บวก จะซื้อชากระเจี๊ยบมาให้คนไข้ดื่มค่ะ

  • Date : 25/2/2556 13:51:00
คำตอบ : - มีรายงานการวิจัยระบุว่ากระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต และลดไขมันในเลือดได้ค่ะ มีการศึกษาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงขั้นที่ 1 (ค่าความดัน 140 - 159/90 - 99 มม.ปรอท) ถึงขั้นที่ 2 (ค่าความดัน 160 - 179/100 - 109 มม.ปรอท) อายุ 30 - 80 ปี ที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันก่อนเข้าร่วมการทดลองอย่างน้อย 1 เดือน เมื่อให้ดื่มชาจากผงดอกกระเจี๊ยบแดง 10 ก. ชงในน้ำเดือด 500 มล. และแช่ไว้นาน 10 นาที ดื่มวันละ 1 ครั้ง ช่วงก่อนรับประทานอาหารเช้าทุกวัน เมื่อสิ้นสุดการทดลอง 4 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีค่าความดันโลหิตลดลง และมีผลเทียบเท่ากับผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน แต่ทางสำนักงานฯ ไม่แน่ใจว่าชาชงที่คุณใช้มีขนาดบรรจุเท่าใด ซึ่งคุณอาจลองเปรียบเทียบขนาดหรือลองใช้ในขนาดตามที่ระบุในฉลาก แล้วสังเกตอาการของผู้ป่วย หากใช้แล้วไม่เกิดความผิดปกติ ก็สามารถใช้ในขนาดดังกล่าวได้ค่ะ สำหรับความปลอดภัยในการใช้ ชาชงกระเจี๊ยบแดงเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงค่ะ โดยสมุนไพรดังกล่าวสามารถลดความดันด้วยกลไกของการขับปัสสาวะ แต่ถ้ามีการใช้ร่วมกับยาลดความดันแผนปัจจุบัน อาจทำให้ความดันลดลงมากเกินไป จึงควรระมัดระวังไม่ใช้ในเวลาเดียวกัน หรือเฝ้าติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดค่ะ
               - สมุนไพรอื่นๆ ในรูปแบบชาชง ที่มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต เช่น ชาชงจากส่วนต้นและใบขลู่ และชาชงจากราก ใบ หรือทั้งต้นของหญ้าหนวดแมว ซึ่งมีความปลอดภัยและข้อควรระวังเช่นเดียวกับชาชงกระเจี๊ยบแดง นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยว่า การรับประทานคื่นฉ่ายแห้งในแคปซูลขนาด 50 - 200 มก. วันละ 4 ครั้ง หรือการรับประทานกระเทียมสด ประมาณ 8 - 10 กลีบ ขนาดกลาง (หรือประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ) หรือกระเทียมในรูปผงแห้งใช้วันละ 600 - 900 มก. ก็สามารถบรรเทาอาการของความดันโลหิตสูงระดับที่ไม่รุนแรงได้ แต่มีข้อควรระวังสำหรับการรับประทานกระเทียมคือ ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานหลายเดือน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกแล้วหยุดยาก เช่น หลังการผ่าตัด ถอนฟัน เป็นต้น
               อย่างไรก็ตามการควบคุมความดันโลหิต สิ่งสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติตัว ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนัก และอาหารที่รับประทาน ซึ่งหากไม่ควบคุมสิ่งเหล่านี้ จะทำให้การใช้ยาหรือแม้แต่การใช้สมุนไพรไม่ได้ผลค่ะหากต้องการทราบรายละเอียดของสมุนไพรที่ใช้รักษาในการรักษาความดันโลหิตสูงอื่นๆ เพิ่มเติมสามารถหาอ่านได้จากหนังสือ "สารพันคำถามฮิตสรรพคุณสมุนไพร" เล่ม 1 ซึ่งมีจำหน่ายที่ศูนย์หนังสือจุฬา และที่สำนักงานข้อมูลสมุนไพรค่ะ