สาวน้อยประแป้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Diffenbachid picta Schott
วงศ์ Araceae
ชื่ออื่น ๆ ว่านหมื่นปี ช้างเผือก ว่านพญาค่าง อ้ายใบก้านขาว บ้วนมีแช ว่านเจ้าน้อย มหาพรหม อ้ายใบ Dumb cane
ลักษณะของพืช ไม้ล้มลุกมีลำต้นตรง ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนานแกมวงรี ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่มถึงรูปหัวใจ มักมีลายประสีเขียวและขาว ก้านใบมีกาบ ดอกช่อมีกาบออกที่ซอกใบ ผลแบบกล้วยสีแดง เมล็ดเรียบ รูปทรงกลมถึงทรงรูปไข่
ส่วนที่เป็นพิษ ใบ ลำต้น และน้ำยาง
สารพิษที่พบ สารแคลเซียมออกซาเลท (calcium oxalate) ที่เป็นผลึกรูปเข็ม สารจำพวกโปรตีน (protoanemomine) และเอนไซม์ที่สามารถย่อยโปรตีน (dumbbain)
อาการพิษ - ผลึกแคลเซียมออกซาเลทที่เป็นผลึกรูปเข็มนี้จะทิ่มแทงผิวหนัง ทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปากและลำคอ เมื่อรับประทานต้นสาวน้อยประแป้งเข้าไปจะรู้สึกเจ็บปวด ร้อนที่ลิ้นและในเยื่อบุช่องปาก การสัมผัสน้ำยางทำให้เกิดอาการบวมแดงได้ และนอกจากนี้ยังมีสารจำพวกโปรตีน (protoanemomine) และเอนไซม์ที่สามารถย่อยโปรตีน (dumbbain) ทำให้ปาก ลิ้นและคอบวมพองเป็นตุ่มใส อีกทั้งยังทำให้กลืนลำบากอีกด้วย แล้วยังอาจทำให้การพูดผิดไปได้
- แม้ว่าอาการพิษที่เกิดจากต้นสาวน้อยประแป้งจะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ต้นสาวน้อยประแป้งจัดเป็นพืชที่หาง่ายและขึ้นอยู่ทั่วไป โอกาสที่จะเกิดการสัมผัสยางหรือรับประทานพืชต้นนี้เข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจเกิดขึ้นได้ จึงควรที่จะระมัดระวัง
ตัวอย่างผู้ป่วย - ผู้ป่วยไทย ก่อนมาโรงพยาบาล 1 ชั่วโมง อาการน้ำลายฟูม พูดได้แต่เป็นเพียงเสียงที่ออกจากลำคอเท่านั้น ริมฝีปากบวม ผนังกระพุ้งแก้มบวม ลิ้นบวมโตคับปาก ลักษณะผิวลิ้นมีสีขาว กลิ่นเหม็นเล็กน้อย อ้าปากได้ลำบาก ร้อนไหม้และเจ็บปวดบริเวณริมฝีปาก ช่องปากและในลำคอ หายใจไม่ออก จากการซักประวัติพบว่า ผู้ป่วยเคี้ยวและกลืนใบและลำต้นของต้นสาวน้อยประแป้งลงไปหลายคำเนื่องจากสภาพมึนเมา เมื่อ 5 วันก่อนมาโรงพยาบาล อาการที่เกิดขึ้นจึงค่อนข้างรุนแรง
- ผู้ป่วยที่รับประทานต้นสาวน้อยประแป้ง พบว่ามีอาการเผ็ดร้อนในปาก การบวมของข้างแก้ม ลิ้น เพดานและหน้าบวม พูดไม่ชัด บางรายถึงกับเสียงหายไป อาการบวมและปวดมีมากจนกระทั่งกลืนอาหารไม่ได้ และบางครั้งจะมีอาการระคายเคืองทางเดินอาหาร แต่ไม่มีผลต่อไตหรือทำให้ชัก
- ผู้ป่วยที่สัมผัสน้ำยางที่ผิวหนังอาจมีอาการแพ้เป็นผื่นบวมแดง อาการบวมจะเริ่มลดลงในวันที่ 4 และเกือบหมดไปในวันที่ 12 แต่อาการปวดจะยังคงอยู่
- ผู้ป่วยเด็กชายอายุ 13 ปี ชาวจีนได้รับยางของต้นสาวน้อยประแป้งกระเด็นเข้าตาข้างซ้าย ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรวดเร็วและรุนแรง เมื่อมาถึงโรงพยาบาลปรากฎว่า ไม่สามารถลืมตาข้างซ้ายได้เลย เมื่อตรวจดูตาพบว่า cornea มีรอยปุ่มขึ้นมา
การรักษา - ลดอาการปวด อาจต้องให้ยาระงับปวด meperidine ล้างปากและรับประทานสารละลาย aluminium magnesium hydroxide 1 ออนซ์ ทุก 2 ชั่วโมง อาจให้ยา steroid และอาจจำเป็นต้องให้น้ำเกลือ
- ถ้ากรณีเพียงแต่เคี้ยว ไม่ได้กลืนพืชลงไป รักษาโดยการใช้น้ำชะล้างปากและคอ เพื่อบรรเทาอาการปวดร้อนไหม้ที่ลิ้นและเยื่อบุช่องปาก รับประทานยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบ อาการจะอยู่เพียง 2-3 วัน ก็สามารถรับประทานอาหารอ่อน ๆ ได้
- ในกรณี cornea มีรอยปุ่มขึ้นมา โดยทั่วไปอาการจะหายไป 3-4 อาทิตย์ แต่ถ้าให้ 1% ethyl morphine และ 2% disodium edetate จะช่วยให้อาการดีขึ้น โดย 1% ethyl morphine จะช่วยทำให้ permeability ของ cornea ดีขึ้น และ 2% disodium edetate จะช่วยละลายผลึกแคลเซียมออกซาเลททำให้แผลหายเร็วขึ้น
- ในกรณีที่ผิวหนังถูกน้ำยาง ควรให้การรักษาโดยการล้างด้วยน้ำสบู่หลาย ๆ ครั้ง เพื่อเจือจางสารพิษที่ผิวหนัง
บรรณานุกรม - ชาญชัย ชรากร ชัยณรงค์ เชิดชู ทัศนัย สุริยจันทร์. พิษจากว่านสาวน้อยประแป้ง รายงานผู้ป่วย 1 ราย. วิทยาสารเสนารักษ์ 2521;31(6):450-4.
- นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. พืชพิษ (Poisonous Plants). ใน รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ (บรรณาธิการ). สมุนไพร: ยาไทยที่ควรรู้. กรุงเทพมหานคร: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ๊งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542.
- นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 4. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชนจำกัด, 2543: หน้า 351-3.
- นันทวัน บุณยะประภัศร (บรรณาธิการ). จุลสารข้อมูลสมุนไพร 2528;3(1):27-9.
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544.
- Benezra C, Ducombs G, Sell Y, et al. Plant Contact Dermatitis. Philadephia: C.V. Mosby Company, 1985: p 240-1.
- Frohne D, Pfender HJ. A Colour Atlas of Poisonous Plants. London: A Wolf Publishing, 1983: p 56-8.
- Lampe KF, Fagerstrom R. Plant Toxicology & Dermatitis. Baltimore: William & Wilkins Company, 1968: p 12-9.
- Morton J. Plants Poisonous to People in Florida and Other Warm Areas. 3rd ed. Miami: Hallmark Press, 1995.
- Spoerke DG, Smolinske SC. Toxicity of Houseplants. Florida: CRC press, 2000.
- Walter WG, Khanna PN. Chemistry of the aroids I Dieffenbachia seguine, amoena, and picta. Econ Bot 1972;26(4):364-72.