1.      ชื่อสมุนไพร           มะเกลือ

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros mollis Griff.

          ชื่อวงศ์           EBENACEAE

          ชื่อพ้อง           ไม่มี

          ชื่ออังกฤษ        Ebony tree

          ชื่อท้องถิ่น        มักเกลือ  ผีเผา

 

2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 30 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 4-7 เซนติเมตร สีเขียวเข้ม เมื่อแห้งสีดำ ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ แยกเพศ อยู่คนละต้น ดอกตัวผู้ออกเป็นช่อสั้นๆ ประมาณ 3 ดอก ดอกตัวเมียเป็นดอกเดี่ยว กลีบดอกสีเหลือง ผลเป็นผลสด รูปกลมเกลี้ยง ผลดิบสีเขียว ผลสุดสีดำ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ติดอยู่ที่ขั้วผล

 

3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

          - ผล              ฆ่าพยาธิ

 

4. สารสำคัญที่เชื่อว่าเป็นสารออกฤทธิ์

          ผลมะเกลือมีสาร diospyrol diglucoside มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิ (1)

 

5. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

          5.1   ฤทธิ์ขับพยาธิ

                 ผลมะเกลือมีฤทธิ์ขับพยาธิตัวกลม (Toxicara canis) และ พยาธิปากขอ (Ancyclostoma canium) ในสุนัข แต่สารสกัดไม่ให้ผลต่อพยาธิทั้ง 2    และผลมะเกลือสด ในขนาด 1.9 กรัม/กิโลกรัม ไม่ให้ผลไม่สามารถขับพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosoma masoni) และ ตืดแคระ (Hymenolepus nana) ในหนูเม้าส์ (2)  แต่ในการทดลองให้น้ำคั้นผลมะเกลือสดแก่สุนัข จำนวน 80 มิลลิลิตร โดยให้ทางท่อสอดถึงกระเพาะอาหาร พบว่าถ้าใช้มะเกลือชนิดผลแบนใหญ่สีเขียวนวล สามารถขับพยาธิปากขอได้ร้อยละ 61.9 – 100 ถ้าใช้มะเกลือชนิดผลกลมเล็กสีเขียว จะขับพยาธิปากขอได้ร้อยละ 58.2 – 67.5 โดยมีผลขับพยาธิปากขอในสุนัข (Ancylostoma canium) ได้มากกว่าพยาธิปากขอในแมว ( A. ceylanicum) และเมื่อศึกษาประสิทธิภาพของมะเกลือในการทำลายไข่พยาธิ โดยผสมอุจจาระกับมะเกลือนาน 3, 24 และ 48 ชั่วโมง  จะทำให้การเจริญของไข่จนเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อลดลง  (3)   มีผู้ทดลองนำเอาสารสกัดซึ่งเป็นอนุพันธุ์อะซีเตรตไปทดลองในสุนัข พบว่าได้ผลดีกับพยาธิปากขอในสุนัข (Ancyclostoma canium),  ตืดปลา (Diphyllobothrium latum), ตืดสุนัข (Dipyridium canium), พยาธิแซ่ม้าในสุนัข (Trichuris vulpis (4, 5)

                 การศึกษาทางคลินิกมีรายงานว่า สารสกัดจากมะเกลือที่ใช้รักษาคนไข้ สามารถฆ่าพยาธิตัวตืด และพยาธิไส้เดือนได้ดี (6)    Sadun และ Vajrasthira ได้รวบรวมรายงานการใช้มะเกลือปี พ.. 2477-2478    ซึ่งมีรายงานการรักษาคนไข้โรคพยาธิปากขอ ของโรงพยาบาลศิริราช พบว่าให้ผลดี และยังรายงานผลการรักษาคนไข้ 63 คน โดยใช้น้ำคั้นจากผลสด 4,380 กรัม ผสมกับน้ำมะพร้าว 3,000 มิลลิลิตร ซึ่งขนาดที่ใช้ขึ้นกับอายุ ในอัตรา 3 มิลลิตร/อายุ 1 ปี ขนาดที่ใช้สูงสุดคือ 75 มิลลิลิตร   พบว่า 6 วัน หลังการให้ยาครั้งแรก พบว่าไข่พยาธิลดลงในคนไข้ 9 คน และพบพยาธิลดลงจากการตรวจด้วยวิธี Willis ในคนไข้ 22 คน   นอกจากนี้มีรายงานการรักษาเด็กที่เป็นพยาธิปากขอ ในโรงเรียน 40 แห่ง พบว่าน้ำคั้นผลสดผสมน้ำมะพร้าว สามารถรักษาพยาธิปากขอได้ดีกว่าพยาธิไส้เดือน (Ascaris lumbricodes) และพยาธิแซ่ม้า (Trichuris trichicuraและได้ผลดีกว่ารักษาด้วย hexylresorcinol    พบผลข้างเคียงเล็กน้อยกับคนไข้ไม่กี่ราย คือ คลื่นไส้ อาการอาเจียน และท้องเสีย (7)
                    ใน พ.. 2481 นายแพทย์เวก เนตรวิเศษ ได้ทดลองนำผงที่สกัดมาทดลองให้เด็กและผู้ใหญ่ รับประทานในขนาด 2-4 กรัม พบว่าสามารถฆ่าพยาธิปากขอ พยาธิตัวตืด พยาธิเส้นด้าย และพยาธิตัวกลมได้ (7)
                    นายแพทย์มงคล โมกขะสมิต ได้ทำการทดลองรักษาด้วยตะกอนที่เกิดจากการใส่กรดอะซีติกลงในสารสกัดแอลกอฮอล์ ในคนไข้ 50 คน ซึ่งมีพยาธิชนิดต่าง ๆ   ขนาดที่ให้ในผู้ใหญ่คือ 2-4 กรัม   และในเด็ก 0.1 กรัม/อายุ 1 ปี พบว่าหลังการรักษาไม่พบไข่พยาธิปากขอทั้งชนิด Ancylostoma duodenale และ Necator americanus ในอุจจาระคนไข้    และได้ผลอย่างดีในคนไข้ 6 คน ที่เป็นพยาธิไส้เดือน (Ascaris lumbricodes), พยาธิเข็มหมุด (Enterobius vermicularis), พยาธิเส้นด้าย (Strongloides steroralis), พยาธิใบไม้ (Fasciolopis buski) รวมทั้งพยาธิตัวแบน 2 ชนิด คือตือวัว (Taenia saginata) และตืดหมู (T. solium) (4, 5)
                    แพทย์หญิงเจริญศรี และคณะ ได้ทดลองประสิทธิภาพของสารสกัดจากผลมะเกลือสดด้วยแอลกอฮอล์ ในการรักษาคนไข้โรคพยาธิปากขอ โดยใช้ขนาดรักษา 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หลังอาหารเช้า 10 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับการใช้ tetracholrethylene ในขนาดรักษา 0.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม   พบว่าสารสกัด สามารถลดจำนวนไข่ได้ร้อยละ 93.9 + 3.3   ส่วน tetracholrethylene ลดได้ร้อยละ 98.8 +1.2 อัตราการรักษาคิดเป็นร้อยละ 50.0% และ 77.3 ตามลำดับ และพบผลข้างเคียงในกลุ่มคนไข้ที่ทำการรักษา คือ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน และปวดท้อง (8)    น้ำคั้นจากผลมะเกลือผสมน้ำปูนใสให้ผลการรักษาที่ดีในคนไข้ที่เป็นพยาธิปากขอ ผลอ่อนให้ผลดีกว่าผลแก่ แต่วิธีการนี้ไม่ควรทำแม้สารสกัดจะมีรสหวานขึ้น เนื่องจากด่างจะทำให้สารสำคัญเปลี่ยนแปลง ไปอยู่ในรูปที่ดูดซึมง่าย อาจทำให้ตาบอดได้ (9)
                    กระทรวงสาธารณสุขมีรายงานการใช้สารสกัดผลมะเกลือด้วยแอลกอฮอล์ในขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม รักษาพยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า โดยเปรียบเทียบกับ mebendazole ขนาด 2.0 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 วัน พบว่าสารสกัดให้ผลดีกับพยาธิปากขอ แต่ให้ผลรักษาไม่ดีนักกับพยาธิไส้เดือนและพยาธิแส้ม้า สารสกัดทำให้ไข่ลดลงร้อยละ 57.3 ถึง 85.4 ส่วนอัตราการรักษาร้อยละ 23.6-29.0 ส่วน mebendazole ทำให้จำนวนไข่ลดร้อยละ 86.6   สำหรับพยาธิปากขอร้อยละ 98.1 สำหรับพยาธิไส้เดือน และร้อยละ 77.4 สำหรับพยาธิแส้ม้า อัตราการรักษาร้อยละ 32.4, 92.0 และ 79.6 ตามลำดับ (10,11)
                    Sen และคณะรายงานการรักษาใช้สารสกัดผลมะเกลือด้วยแอลกอฮอล์เปรียบเทียบกับ Combantrin ในการขับพยาธิปากขอ พบว่าสารสกัดทำให้จำนวนไข่ลดลงร้อยละ 80.1 ส่วนอัตราการรักษาได้ผลร้อยละ 22.2 ขณะที่ Combantrin ทำให้จำนวนไข่พยาธิปากขอ และพยาธิไส้เดือนลดลงร้อยละ 78.7 และร้อยละ 100 ส่วนอัตราการรักษาได้ผลร้อยละ 12.8 และร้อยละ 88.9 ตามลำดับ   มีรายงานคนไข้ที่ได้รับสารสกัดมีอาการท้องเสียร้อยละ 80 และมีผลข้างเคียง อาเจียน, วิงเวียน, ปวดท้อง และปวดศีรษะในคนไข้บางราย (12)

 

6.  อาการข้างเคียง

          ไม่มีรายงาน     

 

7.  ความเป็นพิษทั่วไป

          7.1   การทดสอบความเป็นพิษ

                 นายแพทย์มนัสวีร์ อุณหนันท์ และคณะ (13) ได้ทดลองศึกษาพิษของมะเกลือ โดยการทดลองในหนูแรท หนูเม้าส์ และ กระต่าย พบว่าเมื่อให้สัตว์ทดลองกินมะเกลือ ในขนาด 16 เท่า ของขนาดที่ได้ผลในคน คิดเป็นน้ำหนักผงมะเกลือที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือ น้ำหนักผลมะเกลือสด 40 กรัม /กิโลกรัม ไม่พบพิษเฉียบพลัน ในสัตว์ทดลองทุกชนิดที่ศึกษา การศึกษาขนาดสารสกัดต่าง ๆ ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50)    พบว่าสารสกัดด้วยน้ำใหม่ ๆ มี LD50น้อยที่สุดคือ 64 เท่าของขนาดในคน ในขณะที่สารสกัดซึ่งเปลี่ยนสีไปเป็นสีเหลือง เทา หรือดำ จะมีพิษน้อยกว่า
                    ผู้วิจัยกลุ่มนี้ยังได้ทำการทดลองความเป็นพิษกึ่งเรื้อรัง (subchronic toxicity) โดยทดลองในกระต่าย 128 ตัว พบว่าขนาดต่างๆไม่ทำให้สัตว์ทดลองตาย แต่ในขนาดสูงมากๆ อาจตายได้ และพวกที่กรอกด้วยมะเกลือผสมกะทิ สัตว์ทดลองตายมากที่สุด
                    การศึกษาทางพยาธิวิทยา เมื่อให้มะเกลือ 20 เท่า ของขนาดที่ใช้ในคน ไม่พบอาการผิดปกติของอวัยวะใด โดยเฉพาะที่ตา และสมอง การตรวจนี้ทำหลังจากให้มะเกลือแล้ว 14 วัน
                    ผู้วิจัยกลุ่มเดียวกันนี้ได้ทำการทดลองต่อไปถึงพิษของน้ำคั้นมะเกลือผสมกะทิ พบว่าเมื่อให้ในขนาด 5 และ 10 เท่าของขนาดที่ใช้ในคน พบว่าสัตว์ทดลองตาย แต่ยาเตรียมแบบอื่นปลอดภัย ไม่พบอันตรายอื่น นอกจากท้องเสีย น้ำหนักลด และปัสสาวะขุ่น การศึกษาต่อไปเพื่อเปรียบเทียบน้ำคั้นมะเกลือกับกะทิ และน้ำคั้นมะเกลือกับน้ำ พบว่าทำให้กระต่ายท้องเสียอยู่ประมาณ 1-3 วัน ผลการตรวจเลือดพบว่า ระดับยูเรีย ไนโตรเจน (BUN) และ โคเลสเตอรอล สูงขึ้น ส่วนระดับครีเอตินิน แอลบูมิน กลอบบิวลิน แอลบูมิน ฟอสฟาเตส และ แทรนซามิเนส เปลี่ยนแปลง การตรวจพยาธิสภาพ พบว่าผนังท่อไต มีสีน้ำตาลติดอยู่ ส่วนตา และประสาทตา ไม่พบอาการผิดปกติ ในช่วงเวลาหลังให้มะเกลือ 3 วัน และ 7 วัน น้ำกะทิ ไม่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์แต่อย่างใด (14)
                    การศึกษาพิษของมะเกลือในหนูแรท โดยใช้น้ำคั้นมะเกลือที่เตรียมโดยวิธีต่างๆ เช่น คั้นสดๆ และต้มจนเกิดการอ๊อกซิไดซ์ และใช้มะเกลือที่ถูกอ๊อกซิไดซ์แล้ว พบว่าไม่เกิดพิษต่อประสาทตาในหนูขาว อาการข้างเคียงที่พบ คือ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว อาการซึม (15) ได้มีผู้ศึกษาผลของยาเตรียม 3 ชนิด คือ น้ำคั้นกับน้ำปูนใส และน้ำคั้นผลสด และน้ำคั้นผลที่เปลี่ยนเป็นสีดำแล้ว เมื่อให้ในหนูถีบจักรกินในขนาด 1, 10, 25 และ 30 เท่าของขนาดที่คนใช้ พบว่า LD50 = 22-22.5 เท่าของขนาดที่คนใช้ ค่า BUN และ Glutamate oxaloacetate transminase (GOT) ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่พบพิษต่อตับ ไต และตา และพบว่ามีคราบสีน้ำตาลในท่อไต และผนังลำไส้ และเซลล์ตับบางเซลล์ (16)   เมื่อนำสาร diospyros ที่ได้จากสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากผลมะเกลือสด และสาร mamegakinone ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการนำ diospyrol มาทำปฏิกิริยาออกซิเดชันด้วยสารละลายเกลือ (Fremy’s salt solution) ไปทดสอบพิษต่อลูกตากระต่าย ไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพในเรตินาและประสาทอ๊อบติค (เส้นประสาทที่เกี่ยวกับการรับภาพ) (17)

                 นอกจากนี้ยังมีรายงานความเป็นพิษของมะเกลือ ดังนี้

                 นายแพทย์ศรี ศรีนพคุณ (18) ได้กล่าวถึงรายงานความปลอดภัยของมะเกลือของนักวิทยาศาสตร์หลายท่าน คือ นายแพทย์ประยูร สายบำรุง ได้ทดลองให้สุนัขกินมะเกลือ 10 เท่าของขนาดธรรมดา ไม่พบอาการผิดปกติแต่อย่างใด   หลวงปิติ ธรรมศรีพยัคฆ์ ได้ทดลองรับประทานน้ำคั้นมะเกลือขนาด 2 เท่าของธรรมดาไม่พบอาการแพ้ใดๆ   และได้ให้สุนัขกิน 10 เท่า ก็ไม่ปรากฏอาการเช่นกัน   นายแพทย์มงคล โมกขะสมิต ได้นำผลมะเกลือให้สุนัขกินในขนาด 60 กรัม ก็ไม่มีอาการพิษเกิดขึ้น
                 นายแพทย์มงคล โมกขะสมิต (4) ได้ทดลองพิษของสารสกัดมะเกลือและอนุพันธ์ acetate ในสุนัข พบว่ามีสุนัขตัวหนึ่งลำไส้อักเสบ เนื่องจากได้รับ Mist alba เกินขนาดเมื่อได้รับสารสกัดมะเกลือจึงตาย   การทดลองกับผู้ป่วย 26 ราย พบอาการแพ้มาก 2 ราย รายหนึ่งตั้งครรภ์มีอาการคลื่นไส้อาเจียนอยู่แล้ว เมื่อได้มะเกลือจึงมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ถ่ายอุจจาระบ่อย และเพลียมาก
                ต่อมาได้มีรายงานการเป็นพิษของมะเกลือ แพทย์หญิงคุณหญิงผิว ลิมปิพยอม และคณะ (19) ได้รายงานว่ามีผู้ป่วยหญิงอายุประมาณ 43 ปี มีอาการตามัวและตาบอดในที่สุด หลังจากรับประทานน้ำคั้นมะเกลือสด 20 ผล และได้วินิจฉัยว่าเกิดอาการอักเสบของประสาทตา และในปี 2521 ได้มีผู้ป่วยอีก 3 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช รายแรกเป็นเด็กชายอายุ 6 ปี สายตามัวหลังจากรับประทานมะเกลือ 2 วัน และมีอาการไข้ อาเจียน ท้องเดิน รายที่ 2 เป็นหญิงอายุ 7 ปี ตามัวหลังกิน 5 วัน ไม่รู้สึกตัว 4 วัน จึงได้ทำการรักษาโดยให้ยาสเตียรอยด์ ยาขยายหลอดเลือด nicotinic acid tablet 150 มิลลิกรัม ถึง 300 มิลลิกรัม/วัน ในผู้ใหญ่ เด็กโต 50-300 มิลลิกรัม/วัน หรือยา xanthinol nicotinate (complanin) 450 มิลลิกรัม ถึง 900 มิลลิกรัม/วัน ในผู้ใหญ่ เด็กโตลดลงตามส่วน และวิตามินบีรวม เพื่อเป็นการรักษาเพิ่มเติม ควรให้ขนาดสูงและให้ทันทีที่พบผู้ป่วย นอกจากนี้ให้โซเดียมไบคาร์บอเนต 5 กรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เพื่อช่วยขับพวกแนพธาลีน และให้น้ำเกลือ แต่เนื่องจากกลูโคสเพิ่มการดูดซึมแนพธาลีนในร่างกายจึงควรหลีกเลี่ยงการให้กลูโคสไว้ก่อน   ผลการรักษาพบว่า สายตาดีขึ้นกว่าตอนแรก และหากได้รับการรักษาเร็วเท่าใดโอกาสหายก็ยิ่งมีมาก หากได้รับยาเกิน 7 วันแล้วรักษาไม่ได้ผล (20)
                 ต่อมาในปี 2523 นายแพทย์พิทักษ์กิจเจริญ และนายแพทย์เชี่ยวชาญ วิริยะลัพภะ (21) ได้รายงานพิษของมะเกลือในผู้ป่วย 2 ราย   รายแรกเป็นชายอายุ 25 ปี รับประทานถึง 50 ผล มากเกินกว่าที่ควร และมาโรงพยาบาลหลังได้ยาแล้ว 26 ชั่วโมง เนื่องจากมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นลมต่อมาตาบอดทั้ง 2 ข้าง ผลการรักษาไม่สามารถรักษาตาบอดได้  รายที่ 2 เป็นเด็กชายอายุ 6 ปี มีอาการตามัวหลังได้ยา 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยได้รับยาซึ่งเตรียมโดยการต้มมะเกลือกับน้ำ หลังจากรักษาได้ 3 เดือน พบว่าเริ่มมองเห็นวัตถุใหญ่ได้ดี ช่วยตนเองได้ ผู้ป่วยอีกรายอายุ 5 ปี ตามัวในวันที่ได้รับยา หลังรักษา ตาขวาหาย แต่ตาซ้ายบอด (22)   นอกจากนี้มีรายงานซึ่งไม่ได้ตีพิมพ์ว่ามะเกลือซึ่งผสมน้ำปูนใสทำให้เกิดตาบอดเช่นกัน
                 จากข้อมูลที่มีอยู่นี้พอจะสรุปได้ว่าวิธีในตำรายาไทยซึ่งให้ใช้น้ำกะทิผสมนั้น ก็เพื่อที่จะป้องกันการดูดซึมของสารสำคัญในการออกฤทธิ์   ซึ่งควรเป็นสารที่ละลายน้ำได้ดี ประกอบกับการพบว่าขนาดที่ใช้ diglucoside ใช้สูงกว่าเมื่อใช้มะเกลือ ดังนั้นสารสำคัญ น่าจะเป็นไกลโคไซด์ (23) การต้มหรือการผสมน้ำปูนใสทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีได้สาร diospyrol ซึ่งเป็นพวกแนพธาลีน สารเหล่านี้ มีการดูดซึมผ่านกระเพาะได้ดี การดูดซึมนี้จะมากหรือน้อยอาจขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของผู้ใช้ด้วย นอกจากนี้ยังอาจเปลี่ยนแปลงเป็นสารพวก phenolic อื่นๆอีกมาก ซึ่งสารเหล่านี้จะมีผลต่อประสาทตา   ส่วนการทดลองในหนูขาวและกระต่ายไม่ได้ผลว่าตาบอด   อาจจะเนื่องจากกระต่ายและหนูแรทไม่ไวต่อสารกลุ่มนี้    และระบบเมตาบอลิซึมของสัตว์ทั้งสองก็ไม่เหมือนในคนทีเดียว

ข้อควรระวัง

     1.   ใช้ผลสด

     2.   ควรรับประทานทันที

     3.   ห้ามปั่นกับน้ำปูนใสเพราะจะทำให้สารสำคัญสลายได้สารกลุ่ม phenolic ซึ่งดูดซึมได้ดีอาจทำให้ตาบอดได้

     4.   หากมีอาการตามัวรีบนำส่งโรงพยาบาล เนื่องจากมีรายงานพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับพิษเกิน 24 ชั่วโมง อาจจะตาบอดถาวร

 

8.  วิธีการใช้

          8.1   การใช้มะเกลือรักษาโรคพยาธิ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

                 1.   ใช้ผลมะเกลือราว 10 ลูก หรือมากน้อยกว่านั้นตามความเหมาะสมแก่วัย (เกิน 25 ปี ใช้แค่ 25 ผล) ตำคั้นน้ำผสมหัวกะทิดื่ม (24)

                 2.   ใช้ผลมะเกลือสด (จำนวนเท่าอายุเด็กที่ป่วย) ล้างให้สะอาดตำให้ละเอียด ใส่เกลือป่นและน้ำสะอาดประมาณ 1 1/2 แก้ว กวนผสมให้เข้ากันดี กรองด้วยผ้าขาวบาง ใช้น้ำยาประมาณ 1 แก้ว ดื่มก่อนนอนเมื่อต้องการให้หยุดถ่ายให้อาบน้ำ (25)

                 3.   ใช้ผลมะเกลือสด 5-6 ผล ตำโขลกกับน้ำกะทิสด หรือนมวัวใช้ดื่มขับพยาธิได้ (26)

                 4.   เอาผลมะเกลือเท่าอายุ ตำคั้นเอาน้ำ แล้วเอาน้ำปลาปากไห 1 ถ้วย ผสมกัน   เวลาเช้าให้ดื่มน้ำกะทิก่อนสัก 1 ถ้วย รอสักครู่แล้วจึงดื่มยาตาม (27)

                 5.   เอาผลมะเกลือเท่าอายุผสมกับเกลือ ตำคั้นน้ำ แล้วผสมกับหัวกะทิเท่ากันให้ได้น้ำประมาณ 1 ถ้วยแกง ดื่มเวลาเช้ามืด งดอาหารเช้า ถ้าธาตุหนักให้ดื่มน้ำร้อนแทรกดีเกลือพอควร ถ้าธาตุเบาไม่ต้องแทรกดีเกลือ (28)

          8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                  ไม่มี

 

เอกสารอ้างอิง

1.             Sen HG, Toshi BS, Parthasarathy PC, Kamat VN. Anthelmintic efficacy of diospyrol and its derivatives. Arzeneim-Forsch 1974;24:2003.

2.             Luttermoser GW, Bond HW. Anthelmintic activity of the fruits of Diospyros mollis and tests for activity of other persimmons. Proc Helminthol Soc 1957;24:121.

3.     เรณู ทองเต็ม. การศึกษาประสิทธิภาพของมะเกลือที่มีต่อพยาธิปากขอในสุนัข. ข่าวสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2522;20(208):7-8. 

4.             Mokkhasmit M. Study on the anthelmintic activity of Maklua. Bull Dep Med Sci 1960;2(3):153-79.

5.             Mokkhasmit M, Pengsritong K. Anthelmintic efficient in man and dog. Ibid 1967;3:153.

6.             Daengswang S, Mangalasmaya M. A record of some cases of human infestation with Fasciolopsis buskii occurring in Thailand. Ann Trop Med Parasit 1941;35:43-4.

7.             Sadun EH, Vajrasthira S. The effect of Maklua (Diospyros mollis) in the treatment of human hookworm. Parasitology 1954;40:49.

8.             Migasena S, Suntharasamai P, Inkatanuvat S, Chindanond D, Harinasuta T. The clinical trial of Makluea (Diospyros mollis) extract in human hookworm infection.  Report of the Faculty of tropical Medicine, Mahidol University, Bangkok, Thailand, 1967.

9.             Srinophakun S, Jayaniyayothin T, Kijwunnee S, Utsaha B. Report on the treatment of hookworm with Maklua juice. Ministry of Public Health, Thailand, 1974.

10.         Unhanand M, Srinophankul S, Sidalarusamee T, Jeeradista C, Nilapunthu S, Sathitayathai A. Clinical trial on the efficacy of Maklua for treatement of Ascaris, hookworm and Trichuris.  Commun Dis J 1978;4(3):216-8.

11.          Srinophakun S, Seedonrusmi T, Jeradit C, Nilapan S. Study on the efficacy of an alcohol extract substance from Ma-Klua (Diospyros mollis) against hookworm, Ascaris and Trichuris infections. J Parasit Trop Med Assoc 1978;2(1):13-22.

12.          Jongsuwatt U, Kukongviriyapan V, Kongsaktrakoon J, Tesena S, Hahnvajanawong V, Chantaranothai P. Effect of Diospyros mollis on isolated rat ileum.  Symposium on Sciences and Technology of Thailand 10th, 25-27 October, Chiang Mai, Thailand, 1984.

13.         Unhanand M, Ngamwat W, Permpipat U, et al.  I. Study on the toxicity of Ma-klua (Diospyros mollis Griff) used as a traditional anthelmintic in Thailand.   Bull Dep Med Sci 1982;24(4):227-36.

14.         Unhanand M, Ngamwat W, Permpipat U, et al.  II. Study on the toxicity of Ma-klue berry juice mixed with coconut milk. Bull Dep Med Sci 1982;24(4):237-52.

15.          Chotibure S, Rasmidatta S, Lawtiantong T , Kanchanaranya C. Toxic effect of Maklua (Diospyros mollis), a local Thai antithelmintic.  J Med Assoc Thai 1981;64(11):574-9.

16.         Srisajjalerdvaja L. Study on pathological changes induced by various from and dosages of Maklua (Diospyros mollis) in experimental mice.  M. Sc. Thesis, Faculty of Public Health, Bangkok: Mahidol University, 1980.

17.         Pattanapanyasat K, Panyathanya R, Pairojkul C. A preliminary study on toxicity of diospyrol and oxidized diospyrol from Diospyros mollis Griff. (Maklua) in rabbits eyes.  J Med Assoc Thai 1985;68(2):60-5. 

18.    ศรี ศรีนพคุณการปรุงยาถ่ายมะเกลือตำรับชาวบ้านและการใช้รักษาหมู่เอกสารทางวิชาการเรื่องมะเกลือกรุงเทพฯ: สมาคมปาราสิตวิทยาและอายุรศาสตร์เขตร้อนแห่งประเทศไทย, 2525. หน้า 173-199.

19.         Limpaphayom P, Wangspa S, Lilapatana P. Optic atrophy from Maklua: a case report.  Siriraj Hospital. Gaz 1977;29(4):454-7.

20.         Limpaphayom P, Wangsapha S, Sinjermsiri J. Treatment of optic neuritis caused by Maklue.  Bull Dep Med Serv 1981;6(4):251-9.

21.         Kitcharoen P, Wiriyalappa C. Blindness from Maklua: Clinical reports of 2 patients. Chiang Mai Med Bull 1980;19(1):5.

22.         Konsomboon S. Blindness from Maklua.  Bull Dep Med Serv 1979;4(2):59-65.

23.         Borsub L, Thebtaranonth Y, Ruchirawat S, Sadavongvivad C. A new diglucoside from the anthelmintic berries of Diospyros mollis. Tetrahedron Lett 1976:105.

24.         บวร เอี่ยมสมบูรณ์ดงไม้กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2518.

25.         พระเทพวิมลโมลีตำรายากลางบ้าน.  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มงกุฏราชวิทยาลัย, 2524.

26.    หน่วยงานศึกษาวิจัยคัมภีร์ใบลานตำรายาสมุนไพรลานนา. โครงการร่วมระหว่างพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งชาติโอซากา และศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2522.

27.         สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ตำรายาไทยและหัวข้อที่น่าสนในการใช้ยากรุงเทพฯ: พร้อมจักรการพิมพ์, 2517.

28.         ขุนนิทเทสสุขกิจอายุรเวทศึกษา.  กรุงเทพฯ: พร้อมจักรการพิมพ์, 2516.