1.  ชื่อสมุนไพร           กระวาน

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Amomum testaceum Ridl.

ชื่อวงศ์           ZINGIBERACEAE

ชื่อพ้อง           A. krervanh Pierre

          ชื่ออังกฤษ        Camphor seed, Clustered cardamom, Siam cardamom

ชื่อท้องถิ่น        กระวานขาว, กระวานดำ, ปล้าก้อ

 

2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          พืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า ส่วนที่อยู่เหนือดินสูงได้ถึง 3 เมตร ก้านใบเป็นกาบยาว ใบเรียงสลับกัน แผ่นใบรูปขอบขนาน หรือขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบและโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ ดอกออกจากเหง้าเป็นช่อรูปกระบอง กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ผลกลมติดเป็นพวง เปลือกเกลี้ยง เป็นพู มีสีนวล เมล็ดมีขนาดเล็ก สีน้ำตาลแก่จำนวนมาก ทั้งผลและเมล็ดมีกลิ่นหอมคล้ายการบูร

 

3.  ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

          -ส่วนผลแก่       รักษาอาการแน่น จุกเสียด

 

4. สารสำคัญที่ออกฤทธิ์

          น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ขับลม (1) และสาร cineole ที่สามารถลดการบีบตัวของลำไส้ได้ (2,3)

 

5.  ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา 

          5.1   ฤทธิ์ขับลม

                 น้ำมันหอมระเหยจากกระวานมีฤทธิ์ขับลม (1)

          5.2   ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้

                 สารสกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ในอัตราส่วน 1:1 (4) สารสกัดด้วยน้ำ (5) สารสกัดด้วยเหล้า (6) และน้ำมันหอมระเหย (6) มีผลลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก (4-6)

          5.3   ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

                 น้ำมันหอมระเหยและสารสกัดด้วยเอทานอลจากผลกระวาน มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น Pseudomonas aeruginosa (7) และ Salmonella sp. (8)

 

6.  อาการข้างเคียง

          ยังไม่มีรายงาน

 

7. ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์

7.1  การทดสอบความเป็นพิษ

                 การทดสอบในสัตว์ทดลองพบว่าเมื่อให้สารสกัดกระวานแก่หนูแรทและหนูเม้าส์โดยการกินหรือการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ไม่พบความเป็นพิษ (6, 9, 10) แต่การให้น้ำมันหอมระเหยจากกระวาน พบพิษปานกลางในหนูเม้าส์ (6, 10) แต่ไม่พบการก่อกลายพันธุ์ต่อแบคทีเรียในหลอดทดลอง (11)

 

8. วิธีการใช้ผลกระวานรักษาอาการแน่น จุกเสียด

8.1   ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

       เอาผลแก่จัดมาตากแห้ง แล้วบดให้เป็นผง รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชาครึ่ง โดยชงกับน้ำอุ่น (12)

8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                            ไม่มี

 

เอกสารอ้างอิง

1.             Ross MSF, Brain KR.   An introdiction to phytopharmacy.   London: Pitman Medical Publishing Ltd, 1977, 158-176.

2.             Hajiniwa J, Harada M, Morishita I.   Properties of essential oil components of aromatics and their pharmacological effect on mouse intestine.   Pharmacological studies on crude drugs.   VII.   Yakugaku Zasshi 1963; 83: 624.

3.             Evans BK, James KC, Luscombe DK.   Quantitative structure-activity-relationships and carminative.   J Pharm Sci 1978; 67: 277.

4.             Mokkhasmit M, Ngarmwathana W, Sawasdimongkol K, Permphiphat U.   Phamacological evaluation of Thai medicinal plants (continued).   J Med Assoc Thailand 1971; 54,(7): 490-504.

5.             Nivises N, Warmanajchinda W.  Smooth muscle actions of some carminatives.  Annual Research Abstracts and Bibliography of Non Formal Publication, 1987, Vol. 14.

6.             ทรงโปรด ขวัญใจพานิช  ธวัชชัย ลิขิตาภรณ์  ยุวดี วงษ์กระจ่าง  ปราณี ใจอาจ  โอภา วัชระคุปต์.  การทดสอบความเป็นพิษของกระวานไทย.  โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2529.

7.             Aunphak J, Sriubolmas N, De-Eknamkul W, Ruangrungsi N.  Chemical composition and antimicrobial activity of essential oil from the fruits of Amomum krervanh and A. uliginosum.  Thai J Pharm Sci 1998;22(3):S45.

8.             Nanasombat S, Lohasupthawee P. Antibacterial activity of crude ethanolic extracts and essential oils of species against Salmonellae and other enterobacteria. KMITL Sci. Tech. J. 2005; 5(3) 527-538.

9.             มงคล โมกขะสมิต  กมล สวัสดีมงคล  ประยุทธ สาตราวาหะ.  การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย.  วารสารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2513-2514;12(2-4, 1):36-66.

10.         สมใจ นครชัย  ยุวดี วงษ์กระจ่าง  ปราณี ใจอาจ  พิสมัย ทิพย์ธนทรัพย์  ปัญญา เต็มเจริญ.  พิษวิทยาของเมล็ดกระวานไทย.  วารสารสมุนไพร 2538;2(1):7-11.

11.         Ungsurungsie M, Suthienkul O, Paovalo C.   Mutagenicity screening of popular Thai spices.   Food Cosmet Toxicol 1982; 20: 527-30.

12.         สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.   คู่มือสมุนไพรประจำตู้ยา.   กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์.   มหาวิทยาลัยมหิดล, 2531, หน้า 55.