1.  ชื่อสมุนไพร           กระเจี๊ยบแดง

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa L.

          ชื่อวงศ์           MALVACEAE

          ชื่อพ้อง           ไม่มี

          ชื่ออังกฤษ        Jamaica sorrel, Roselle

          ชื่อท้องถิ่น        กระเจี๊ยบ  กระเจี๊ยบเปรี้ยว  ผักเก็งเค็ง  ส้มเก็งเค็ง  ส้มตะเลงเครง  ส้มปู

 

2.  ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          พืชล้มลุก ลำต้นมีสีแดงอมม่วง ใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ  ส่วนปลายใบแยกเป็น 3 หรือ 5 แฉก มีขน หูใบรูปยาวแคบ ร่วงง่าย ดอกเดี่ยว มีกลีบดอกสีเหลืองอ่อนหรือชมพูอ่อน โคนกลีบมีสีแดง เกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ผลแห้ง แตกได้ เป็นรูปไข่ป้อม มีจงอยสั้นๆ ขนหยาบสีเหลือง และมีกลีบเลี้ยงสีแดงลักษณะฉ่ำน้ำหุ้มไว้

 

3.  ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

          - กลีบเลี้ยง       รักษาอาการปัสสาวะขัด

 

4.  สารสำคัญที่เชื่อว่าเป็นสารออกฤทธิ์ หรือสารที่ใช้ประเมินคุณภาพของสมุนไพร   

     ไม่มี

 

5.  ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

          5.1   ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ

                 จากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าน้ำมันและสารสำคัญประเภท  unsaponifiable matter ในดอก มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย Salmonella typhi, Staphylococcus albus และ Bacillus anthracis น้ำกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ต้านเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วง  สารสกัดด้วยน้ำร้อนจากกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus และ Bacillus cereus (1-3) อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในผู้ป่วย เมื่อให้ผู้ป่วย 32 คน รับประทานน้ำชงกระเจี๊ยบในขนาด 6 กรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน และให้ผู้ป่วยดื่มน้ำไม่น้อยกว่า 2 ลิตรต่อวัน พบว่าน้ำชงกระเจี๊ยบไม่มีผลฆ่าเชื้อแบคทีเรียในระบบขับถ่ายปัสสาวะในผู้ป่วย (4)

          5.2   ฤทธิ์ขับปัสสาวะ

                 เมื่อให้ผู้ป่วยดื่มน้ำสกัดกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดง พบว่ามีฤทธิ์ขับปัสสาวะ (5)  จากการศึกษาในผู้ป่วย 50 คน ใช้กลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดงแห้งบดเป็นผง 3 กรัม ชงน้ำเดือด 1 ถ้วยแก้ว หรือประมาณ 300 มิลลิลิตร ให้ผู้ป่วยดื่มวันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน ถึง 1 ปี พบว่าได้ผลดีในการขับปัสสาวะ (6)  

          5.3   ฤทธิ์ป้องกันการเกิดนิ่ว

                 จากการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีพบว่าน้ำกระเจี๊ยบแดงไม่มีผลป้องกันการเกิดนิ่ว (7, 8)  เมื่อทดสอบโดยให้อาสาสมัครสุขภาพดีอายุ 27-45 ปี จำนวน 6 คน ดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงความเข้มข้นร้อยละ 4  ติดต่อกัน 4 ครั้งๆ ละ 250 มิลลิลิตรเป็นเวลา 1 วัน  แล้วทำการตรวจปัสสาวะหลังจากการดื่มครั้งสุดท้าย 24 ชั่วโมง พบว่าน้ำกระเจี๊ยบไม่มีผลลดค่าการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งใช้ประเมินการเกิดนิ่ว  รวมทั้งเมื่อศึกษาโดยให้ดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงความเข้มข้นร้อยละ 1.2 ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็ไม่พบผลป้องกันการเกิดนิ่วเช่นกัน  เมื่อให้อาสาสมัครสุขภาพดี 36 คน ดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงขนาดวันละ 16 กรัม (แบ่งดื่มวันละ 4 ครั้ง) นาน 7 วัน (ระยะที่ 1)  แล้วให้พัก 2 สัปดาห์ จากนั้นดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงขนาดวันละ 24 กรัม (แบ่งดื่มวันละ 4 ครั้ง) นาน 7 วัน (ระยะที่ 2)  แล้วทำการตรวจปัสสาวะพบว่า การดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงขนาดวันละ 16 กรัม จะมีผลทำให้การขับออกของสารต่างๆออกทางปัสสาวะลดลงมากกว่าขนาดวันละ 24 กรัม การกินกระเจี๊ยบแดงจึงไม่มีประโยชน์ต่อการป้องกันการเกิดนิ่วในไต และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตอีกด้วย  ดังนั้นผลจากการกินกระเจี๊ยบแดงในระยะยาวและในขนาดสูงกว่า 24 กรัม/วัน ยังต้องทำการศึกษาต่อไป (8)

                            ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งทำในผู้ป่วยโรคนิ่วหรือโรคทางเดินปัสสาวะ และผู้ป่วยหลังการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก  เมื่อให้ดื่มน้ำกระเจี๊ยบ 3 กรัม ชงกับน้ำเดือด 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 1 ปี พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมีปัสสาวะใสขึ้น และปัสสาวะมีความเป็นกรด จึงช่วยฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะด้วย (9 

 

6.  อาการข้างเคียง

          ยังไม่มีรายงาน

 

7.  ความเป็นพิษทั่วไปและพิษต่อระบบสืบพันธุ์

          7.1   การทดสอบความเป็นพิษ

                 เมื่อป้อนสารสกัดด้วยน้ำจากกลีบเลี้ยง พบว่ามีไม่มีพิษเมื่อทดสอบกับกระต่าย (10, 11) และมีพิษเล็กน้อยเมื่อทดสอบกับหนูแรท (12)   แต่ไม่พบความเป็นพิษในหนูเม้าส์และหนูแรทที่กินสารสกัดด้วยน้ำจากกลีบเลี้ยงขนาด 4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (2)   เมื่อฉีดสารสกัดด้วยน้ำจากกลีบเลี้ยงเข้าช่องท้องหนูเม้าส์ทั้งสองเพศ พบว่ามีพิษเล็กน้อย (10)

          7.2  ฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง

                 เมื่อฉีดสารสกัดด้วยน้ำจากกลีบเลี้ยงเข้าช่องท้องหนูถีบจักรทั้งสองเพศ ขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง (13)

          7.3  ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์

                 เมื่อทำการทดสอบกับเชื้อ Salmonella typhimurium TA98 และ TA100 พบว่า สารสกัดจากผลกระเจี๊ยบที่ความเข้มข้นสูง (14)  และน้ำมันจากเมล็ด (15) มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ แต่สารสกัดด้วยน้ำจากกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบความเข้มข้นต่ำ ไม่มีผลต่อการก่อกลายพันธุ์ (16, 17) และเมื่อนำสารสกัดจากกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบด้วยเอทานอลร้อยละ 80 ซึ่งทำให้แห้งด้วยวิธีแช่แข็งมาทดสอบ ที่ความเข้มข้น 100 กรัม/ลิตร พบว่ามีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ แต่ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์  ชาชงใบกระเจี๊ยบ ความเข้มข้น 100 ไมโครลิตร/แผ่นกระดาษกรอง สามารถต้านการก่อกลายพันธุ์ได้เช่นกัน (18)

          7.4  พิษต่อตับ

                 เมื่อให้ส่วนที่ละลายน้ำหลังจากที่ได้จากสารสกัดแอลกอฮอล์:น้ำจากกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบกับหนู  พบว่าหนูทุกกลุ่มที่ได้รับส่วนที่ละลายน้ำจะมีเอนไซม์ที่แสดงถึงการทำงานของตับสูงขึ้นได้แก่ aspartate aminotransferase (AST) และ alanine aminotransferase (ALT)  แต่ไม่มีผลต่อระดับของ alkaline phosphatase และ lactate dehydrogenase (LDH)  นอกจากนี้การได้รับส่วนที่ละลายน้ำเป็นเวลานานยังทำให้ระดับอัลบูมินในเลือดสูงขึ้น  แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเนื้อเยื่อของตับและหัวใจของหนูทุกกลุ่ม  ดังนั้นในการกินส่วนสกัดนี้ในขนาดสูงหรือเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เป็นพิษต่อตับได้ (19)        

 

8. วิธีการใช้กลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดงรักษาอาการปัสสาวะขัด

8.1   ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

                 ใช้กลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดงแห้ง 3 กรัม  บดเป็นผง ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วยแก้ว หรือประมาณ 300 มิลลิลิตร ดื่มวันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน ถึง 1 ปี (6)

8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                            ไม่มี

 

เอกสารอ้างอิง

1.             Gangrade H, Mishra SH, Kaushal R. Antimicrobial activity of the oil and unsaponifiable matter of red Roselle. Indian Drugs 1979;16(7):147-8.

2.     พงษ์จักร บูรณินทุ  ธวัชชัย ค้าสุคนธ์  มาลิน จุลศิริ. การต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอุจจาระร่วงของสารสกัดน้ำของสมุนไพรที่นำมาปรุงเป็นเครื่องดื่ม. โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยมหิดล, 2534. 

3.             Sirotamarat S. Potential of medicinal plants and herbal tea products for antibacterial activity against diarrheal bacteria. Thai J Pharm Sci 2005;29(suppl):82.

4.             Hiyaacheeranunt S, Gaerunpongse W, Soonthrapha S, Wichianjaroen K. The effect of roselle in reducing of lower urinary tract infection. Seminar on the Development of Medicinal Plants for Topical Disease, Feb 26-27, Mahidol University, Bangkok, Thailand, 1987.

5.              Leclerc H.  Sida sabdariffa (Hibiscus sabdariffa L).  Presse Med 1938;46:1060.

6.              วีระสิงห์ เมื่องมั่น  กฤษฎา รัตนโอฬาร. การใช้สมุนไพรในโรคระบบปัสสาวะ. Thai J Urology 1984;8:7.

7.     มยุรี (พันธุมโกมล) เนิดน้อย วีระสิงห์ เมืองมั่น. การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของกระเจี๊ยบแดงและโปแทสเซียมซิเตรทต่อการลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดนิ่วทางเดินปัสสาวะ. รามาธิบดีเวชสาร 2533;13(3):177-86.

8.             Kirdpon S, Na Nakorn S, Kirdpon W.  Changes in urinary chemical composition in healthy volunteers after consuming roselle (Hibiscus sabdariffa Linn.) juice. J Med Assoc Thai 1994;77(6):314-21. 

9.             Muangmum W, Ratanaolarn K. The usage of roselle bulbs as urinary acidifying agent. Annual Research Abstracts, Mahidol Univ, Bangkok, 1984:108. 

10.         El-Merzabani MM, El-Aaser AA, Attia MA, El- Duweini AK, Glazal AM. Screening system for Egyptian plants with potential anti-tumor activity. Planta Med 1979;36:150-5.

11.         Zhung YL, Yeh JR, Lin DJ, Yuan JC, Zhou RL, Wang PQ. Antihypertensive effect of Hibiscus sabdariffa.  Yao Hsueh T’ung Pao 1981;16(5):60.

12.         Onyenekwe PC, Ajani EO, Ameh DA, Gamaniel KS. Antihypertensive effect of roselle (Hibiscus sabdariffa) calyx infusion in spontaneously hypertensive rats and a comparison of its toxicity with that in Wistar rats. Cell Biochem Funct 1999;17(3):199-206.

13.         Amos S, Binda L, Chindo BA, Tseja A, Odutola AA, Wanbebe C, Gamaniel K.  Neuropharmacological effects of Hibiscus sabdariffa aqueous extracts.  Pharmaceutical Biol 2003;41(5):325-9.

14.         Takeda N, Yasui Y. Identification of mutagenic substances in roselle color, elderberry color and safflower yellow. Agr Biol Chem 1985;49(6):1851-2. 

15.         Polasa K, Rukmini C. Mutagenicity tests of cashewnut shell liquid, rice-bran oil and other vegetable oils using the Salmonella typhimurium/microsome system.  Food Chem Toxicol 1987;25(10):763-6. 

16.         Duh PD, Yeh GC. Antioxidative activity of three herbal water extracts.  Food Chem 1997;60(4):639-45. 

17.         Changbumrung S, Limveeraprajak E, Rojanapo W, et al. Mutagenicity and clastogenicity tests of natural food colouring agents is commonly used in Thailand. Annual Research Abstracts and Bibliography of Non-formal Publications, Mahidol Univ 1997, 1998;25:420. 

18.         Badria FA. Is man helpless against cancer? An environmental approach: antimutagenic agents from Egyptian food and medicinal preparations.  Cancer Lett 1994;84(1):1-5. 

19.         Akindahunsi AA, Olaleye MT. Toxicological investigation of aqueous-methanolic extract of the calyces of Hibiscus sabdariffa L. J Ethnopharmacol 2003;89(1):161-4.