1. ชื่อสมุนไพร           มังคุด

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia mangostana L.

          ชื่อวงศ์           GUTTIFERAE

          ชื่อพ้อง           ไม่มี

          ชื่ออังกฤษ        Mangosteen

          ชื่อท้องถิ่น        ไม่มี

 

2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ยืนต้นสูง 10-12 เมตร ทุกส่วนมียางสีเหลือง ใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม เป็นรูปไข่หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน เนื้อใบหนาและค่อนข้างเหนียวคล้ายหนัง หลังใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบสีอ่อนกว่า ดอกเป็นดอกเดี่ยว แตกออกที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง ดอกแยกเพศ แยกต้น กลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลือง ติดทนจนถึงเป็นผล กลีบดอกสีแดง ฉ่ำน้ำ เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก ผลเป็นผลสด ค่อนข้างกลม เปลือกหนา เนื้อในผลมีสีขาวขุ่น

 

3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

          - เปลือกผล       แก้ท้องเสีย รักษาแผล

 

4. สารสำคัญที่เชื่อว่าเป็นสารออกฤทธิ์

          Tannin มีฤทธิ์ฝาดสมานช่วยแก้ท้องเสีย สาร mangostin และอนุพันธ์ สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของการเกิดหนอง ใช้รักษาแผล และ xanthones มีฤทธิ์ลดการอักเสบ

 

5. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

          5.1   ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียและฤทธิ์แก้อาการท้องเสีย

                 สารสกัดด้วยน้ำต้มจากเปลือกผลมังคุดมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของท้องเสีย ได้แก่ โรคบิด (1-3) อาหารเป็นพิษ (2-6) อหิวาห์และไทฟอยด์ (2-3, 5-6) แต่การศึกษาบางแห่งพบว่าสารสกัดด้วยน้ำ เอทิลอัลกอฮอล์ร้อยละ 95 และไดเอทิลอีเทอร์ จากเปลือกผล ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคบิด (7) สารสกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์และเอทานอลจากเปลือกผลไม่มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษ (8-9) สารที่พบมากที่เปลือกคือ tannin (10) มีฤทธิ์ฝาดสมาน ช่วยแก้อาการท้องเสีย (11) การใช้ทิงเจอร์จากเปลือกผลร่วมกับ emetine จะช่วยลดอาการโรคบิด และลดขนาดยา emetine ที่ต้องใช้ลง (12)

          5.2   ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและสารสำคัญในการออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดหนอง

                   สารสกัดเปลือกมังคุดมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของการเกิดหนองทั้งชนิดที่ไม่ค่อยดื้อยา (4, 8, 13-18) และที่ดื้อยามาก (8, 13, 17-19) โลชั่นที่ประกอบด้วยสารสกัดจากเปลือกผลมังคุดความแรงร้อยละ 0.75  และสบู่เหลวที่ประกอบด้วยสารสกัดด้วยอัลกอฮอล์จากเปลือกผลความแรงร้อยละ 0.15 มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียนี้เช่นกัน (16) โดยคาดว่าฤทธิ์นี้เกิดจากสารสำคัญ mangostin และอนุพันธ์ (20-23) mangostin จากเปลือกผล และ a-mangostin จากเปลือกต้นเมื่อใช้ร่วมกัน จะมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยานี้ (24, 25) และยังไวต่อเชื้อแบคทีเรียที่มักดื้อต่อยา vancomycin ด้วย (25)  เมื่อใช้ a-mangostin ร่วมกับยา gentamycin หรือ vancomycin จะช่วยเสริมฤทธิ์ต้านเชื้อให้มากขึ้น (25) 

          5.3   ฤทธิ์รักษาแผล

                 Mangostin จากผลมังคุดมีผลรักษาแผลในหนูแรทได้ (26) ครีม GM1 ซึ่งประกอบด้วยสารสกัดจากมังคุดมีคุณสมบัติใช้ในการรักษาแผลติดเชื้ออักเสบ และแผลเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน (13)

          5.4   ฤทธิ์ลดการอักเสบ

       สารสกัดจากมังคุดมีฤทธิ์ลดการอักเสบในหนูเม้าส์ (27) และหนูแรท (28) ที่ถูกเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าบวม โดยลดบวมได้ร้อยละ 45 (27, 28)  ยางจากมังคุดที่ประกอบด้วย xanthones มากกว่าร้อยละ 75  มีฤทธิ์ลดการอักเสบ (19)  mangostin, 1-isomangostin และ mangostintriacetate จากมังคุด เมื่อป้อนหรือฉีดเข้าช่องท้องหนูแรท จะมีผลระงับการอักเสบที่อุ้งเท้าหนู  โดยสารทั้ง 3 ตัวดังกล่าวไม่มีผลยับยั้งการหลั่งสารสื่อที่ทำให้เกิดการอักเสบและการแพ้ (26) แต่สารสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 40 จากเปลือกผล ที่ขนาด 100 และ 300 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งการหลั่งสารสื่อนี้ได้ (29) นอกจากนี้ยังพบว่า g-mangostin (30, 31) และ a-mangostin (31) มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเอนไซม์ซึ่งทำหน้าที่สร้างสารสื่อที่ทำให้เกิดอาการอักเสบและปวด (29-31)  

                 Mangostin และอนุพันธ์ที่ละลายน้ำได้อีก 2 ชนิด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของข้อ โดยยับยั้งที่บางขั้นตอนของกระบวนการอักเสบในเนื้อเยื่อโดยไม่ได้ยับยั้งอนุมูลอิสระซึ่งอาจไปทำลายเซลล์ใกล้เคียงอันเป็นส่วนประกอบของข้อได้ (32)

                 ครีม GM1 ซึ่งประกอบด้วยสารสกัดจากมังคุด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบป็น 3 เท่าของแอสไพริน (13)

 

6. อาการข้างเคียง

          ยังไม่มีรายงาน

 

7.  หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ

          7.1   การทดสอบความเป็นพิษ

                 เมื่อให้หนูเม้าส์กินสารสกัดจากมังคุด พบว่าเกิดความเป็นพิษน้อย สารสกัดมังคุดที่ความเข้มข้นสูงสุด 20 กรัม/กิโลกรัม ไม่ทำให้หนูเม้าส์ตายภายในเวลา 3 วัน แสดงว่าสารสกัดมังคุดมีความปลอดภัยเมื่อรับประทานเพียงครั้งเดียว ในการศึกษาพิษเรื้อรังของสารสกัดที่ความเข้มข้น 2, 4 และ 8 กรัม/กิโลกรัม/วัน พบว่ามีผลทำให้หนูตายร้อยละ 14.29, 16.67 และ 42.86 ตามลำดับ และหนูมีน้ำหนักไตเพิ่มขึ้น (27)                   

7.2   พิษต่อตับ

                 เมื่อฉีดสาร mangostin จากมังคุดให้หนูด้วยขนาด 200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สารนี้จะไปลดปริมาณเอนไซม์ที่บ่งชี้ถึงความเป็นพิษต่อตับ ได้แก่ glutamic oxaloacetic transaminase (SGOT หรือ aspartate aminotransferase, AST) และ glutamic pyruvic transaminase (SGPT หรือ alanine aminotransferase, ALT) หลังการฉีดสารสกัดไป 12 ชั่วโมง  และเมื่อเปรียบเทียบกับพาราเซตามอล โดยป้อนอาหารที่มีสาร mangostin แก่หนูในขนาด 1.5 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่าพาราเซตามอลมีผลเพิ่มเอนไซม์เหล่านี้มากกว่า mangostin  โปรตีนในตับของหนูที่ทดสอบด้วยพาราเซตามอลมีปริมาณลดลง ในขณะที่หนูที่ทดสอบด้วย mangostin มีค่าไม่เปลี่ยนแปลง (33) แสดงว่า mangostin ในขนาดที่ทำการทดสอบไม่เป็นพิษต่อตับ

7.3   ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์

       สารสกัดด้วยเมทานอลร้อยละ 50 ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อเชื้อ Salmonella typhimurium TA98 และ TA100 (34)

7.4   ฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์

       สารสกัดด้วยเมทานอลร้อยละ 50 มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ต่อเชื้อ S. typhimurium TA98 และ TA100 (34) แต่สารสกัดด้วยน้ำร้อนไม่มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ (35)

 

8. วิธีการใช้

8.1   ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

          1.     ใช้รักษาอาการท้องเสีย โดยใช้เปลือกผลตากแห้งต้มกับน้ำปูนใส รินเอาเฉพาะ น้ำมาดื่ม (36) หรือใช้เปลือกผลตากแห้งฝนกับน้ำ ให้เด็กดื่มครั้งละ1-2 ช้อนชา ทุก 4 ชั่วโมง และผู้ใหญ่ ครั้งละ 4 ช้อนโต๊ะ ทุก 4 ชั่วโมง (37, 38)
          2.     ใช้รักษาแผล โดยเอาเปลือกมังคุดตากแห้งฝนกับน้ำปูนใส ใช้ทาแผลพุพอง หรือ แผลเน่าเปื่อย (39-43)

8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                            ไม่มี

 

เอกสารอ้างอิง

1.             Praserdsook S, Sukchotiratana M. Effect of some medicinal plant extracts on the growth of dysenteric bacteria. Symposium on Sciences and Technology of Thailand, 12th, 20-22 October, Bangkok, Thailand, 1986.

2.     จริยา สินเดิมสุข  สมเกียรติ ดีกิจเสริมพงศ์. ฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรียของสารสกัดจากเปลือกมังคุดต่อกลุ่มแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วงและกลุ่มแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้.  วารสารกรมการแพทย์ 2532;14(6):421-6. 

3.     จริยา สินเดิมสุข  สมเกียรติ ดีกิจเสริมพงศ์  วีณา จารุปรีชาชาญ. เปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาโรคอุจจาระร่วงระหว่างใบฝรั่งและเปลือกมังคุด. วารสารเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2532;16(2):32-5.

4.             Chaiyasothi T, Reksopha W. Effect of some medicinal plants.   Special Project for the Degree of B. Sc. (Pharm), Faculty of Pharmacy, Mahidol Univ, Bangkok, Thailand, 1975. 

5.             Garnett M, Sturton SD. G. mangostana in the treatment of amoebic dysentery. Chinese Med J 1932;46(10):969-73. 

6.             Gritsanapan W, Chulasiri M. A preliminary study of antidiarrheal plants: I. Antibacterial activity. J Pharm Sci 1983;10(4):119-22.

7.     สุรีย์ ประเสริฐสุข  มรกต สุกโชติรัตน์. ผลของสารสกัดจากพืชสมุนไพรบางชนิดที่มีต่อการเจริญของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคบิด. การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 กรุงเทพฯ, 2529:344-5. 

8.             Sutabhaha B, Darntrakoon U, Furuya T, Nagumo T. The inhibitory activities of mangosteen’s pericarb extract on methicillin-resistant Staphylococcus aureus.  Bull Chiang Mai Assoc Med Sci 1997;30(1):S40-6. 

9.             Voravuthikunchai S, Lortheeranuwat A, Jeeju W, Sririrak T, Phongpaichit S, Supawita T. Effective medicinal plants against enterohaemorrhagic Escherichia coli O157:H7.  J Ethnopharmacol 2004;94:49-54. 

10.         Heim F, Maheu J, Matrod L. The value of the pericarps of Garcinia mangostana L. in the tanning industry. Bull Arg Intelligence 1919;10:1256-7.  

11.         Reynolds JEF; ed. Martindale: The extra pharmacopocia.  London: The Pharmaceutical Press, 1989. 

12.         Garnett M, Sturton SD. Garcinia mangostana in the treatment of amoebic dysentery. Chinese Med J 1932;46(10):969-73. 

13.    ธวัชชัย เชื้อประไพศิลป์  พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา  เมตตา องค์สกุล  และคณะ. ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในทางการแพทย์. การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์  และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 19 27-29 ตุลาคม, สงขลา, 2536. 

14.    จันจิรา อินตรา  อนุสรา รอตรักษา. การพัฒนาสบู่เหลวสมุนไพรต้านเชื้อแบคทีเรีย.  โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์, กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยมหิดล, 2542. 

15.    ประสิทธิ์ ธราวิจิตรกุล. ฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของสารสกัดจากเปลือกมังคุด. สัมมนาวิชาการเทคโนโลยีชีวภาพเภสัชกรรม ครั้งที่ 2 “การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการแพทย์แผนไทย” 21-23 มิถุนายน, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2543. หน้า 142. 

16.    ณัฐพันธุ์ ตันตินฤพงษ์  ตุลาภรณ์ ม่วงแดง. การพัฒนาสบู่สมุนไพรต้านเชื้อ. โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์, กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยมหิดล, 2543. 

17.         Surassmo S, Tantichaiwanit S, Banmai S, Chomnawang MT. Antibacterial activity of medicinal plants against methicillin-resistant Staphylococcus aureus.  The 20th Congress of Federation of Asian Pharmaceutical Associations (FAPA), 30 November – 3 December, Bangkok, Thailand, 2004. p.236. 

18.    ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย  หลิน กิจพิพิธ. ฤทธิ์ต้านเชื้อของสารสกัดสมุนไพรไทยต่อ clinical isolates ของ methicillin-resistant Staphylococcus aureus. วารสารสงขลานครินทร์ วทท. 2548;27(ฉบับพิเศษ):525-34. 

19.         Dharmaratne HRW, Piyasena KGNP, Tennakoon SB. A geranylated biphenyl derivative from Garcinia mangostana. Nat Prod Res 2005;19(3):239-43. 

20.    วิลาวัลย์ มหาบุษราคัม  ฉวีวรรณ จันสกุล  วราคม ไชยยศ  พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา. สารเคมีจากเปลือกมังคุดและฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรีย. การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 8, กรุงเทพฯ, 2525. 

21.    วิลาวัลย์ มหาบุษราคัม  พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา  เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร. ฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรียของสารเคมีในเปลือกผลมังคุดและอนุพันธ์. การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10, 25-27 ตุลาคม, เชียงใหม่, 2527. 

22.         Mahabusarakam W, Wiriyachitra P, Phongpaichit S. Antimicrobial activities of chemical constituents from Garcinia mangostana Linn. J Sci Soc 1986;12(4):239-43. 

23.         Mahabusarakum W, Phongpaichit S, Jansakul C, Wiriyachitra P. Screening of antibacterial activity of chemicals from Garcinia mangostana. Warasan Songkhla Nakkharin 1983;5(4):337-9. 

24.    เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร  เมตตา องค์สกุล  ลัดดา นิลรัตน์  ประสิทธิ์ ธราวิจิตรกุล  ศิริพรรณ บุญชู  ธวัชชัย เชื้อประไพศิลป์  พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา. ฤทธิ์ของสารสกัดจากเปลือกมังคุดต่อ Stapylococcus aureus ที่ดื้อต่อยา methicillin (MRSA) และ Enterococcus species.  วารสารสงขลานครินทร์ 2537;16(4):399-405. 

25.         Sakagami Y, Iinuma M, Piyasena KGNP, Dharmaratne HRW. Antibacterial activity of a-mangostin against vancomycin resistant Enterococci (VRE) and synergism with antibiotics. Phytomedicine 2005;12:203-8. 

26.         Shankaranarayan D, Gopalakrishnan C, Kameswaran L. Pharmacological profile of mangostin and its derivatives.  Arch Int Pharmacodyn Ther 1979;239(2):257-69. 

27.    ณัฏฐิยา พงศ์ผาสุก. การพัฒนาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเพื่อใช้เป็นยาทาภายนอก.  รายงานการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2546.

28.         Pongphasuk N, Chitcharoenthum M, Khunkitti W. Anti-inflammatory and activities of the extract from Garcinia mangostana Linn. The 3rd World Congress on Medicinal Plant and Aromatic Plants for Human Welfare, Chiang Mai, Thailand, 3-7 Feb 2003:543. 

29.         Nakatani K, Atsumi M, Arakawa T, Oosawa K, Shimura S, Nakahata N, Ohizumi Y. Inhibitions of histamine release and prostaglandin E2 synthesis by mangosteen, a Thai medicinal plants. Biol Pharm Bull 2002;25(9):1137-41. 

30.         Nakatani K, Nakahata N, Arakawa T, Yasuda H, Ohizumi Y. Inhibition of cyclooxygenase and prostaglandin E2 synthesis by g-mangostin, a xanthone derivative in mangosteen, in C6 rat glioma cells. Biochem Pharmacol 2002;63(1):73-9. 

31.         Oizumi Y, Arakawa T, Osawa K, Shimura S. Cyclooxygenase inhibitor containing Garcinia mangostana extract or mangostin, and foods and beverages containing the inhibitor. Patent: Jpn Kokai Tokkyo Koho JP 2002 47,180, 2002:6pp. 

32.         Hutadilok N. Studies on the effect of mangostin and its derivatives on hyaluronic acid degradation in vitro. Songklanakarin J Sci Technol 1992;14(2):149-56. 

33.         Sornprasit A, et al. Preliminary toxicological studyof mangostin. Songklanakarin J Sci Technol 1987;9(1):51-7. 

34.    บังอร ศรีพานิชกุลชัย. การศึกษาฤทธิ์กลายพันธุ์และฤทธิ์ต้านการกลายพันธุ์ของพืชสมุนไพร.  รายงานการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2538. 

35.    อมรศรี ชาญปรีชากุล และคณะ. การต้านสารก่อกลายพันธุ์ของสารสกัดน้ำจากพืชสมุนไพรชนิดที่สามารถนำมาปรุงเป็นเครื่องดื่ม.  รวมบทคัดย่องานวิจัย การแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543. 

36.         กองวิจัยทางการแพทย์.  สมุนไพรพื้นบ้าน ตอนที่ 1.  กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาสตร์การ แพทย์. กระทรวงสาธารณสุข, 2526. 

37.         . กุลฑลตำรายาพื้นบ้าน.  กรุงเทพฯ: ปรีชาการพิมพ์, 2524. 

38.         วีณา ศิลปอาชา.  ตำรายาพื้นบ้าน.  กรุงเทพฯ: โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง, 2529:16. 

39.         หมอชีวกโกมารทัจจ์.  ตำรายาวิเศษ.  กรุงเทพฯ: ชัยมงคลการพิมพ์, 2517. 

40.         บวร เอี่ยมสมบูรณ์.  ดงไม้.  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2518. 

41.         พระภิกษุสุเทพ แพทอง.  แบบสัมภาษณ์ผู้ใช้โดยโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง.  

42.         พระหอม.  แบบสัมภาษณ์ผู้ใช้โดยโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง

43.         พระเทพวิมลโมลีตำรายาพื้นบ้าน.  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มงกุฏราชวิทยาลัย, 2524.