มะขามป้อม

 

ชื่อวิทยาศาสตร์            Phyllanthus emblica L.

วงศ์                              Euphorbiaceae

ชื่อพ้อง                         Emblica officinalis Gaertn.

ชื่ออื่นๆ                        กันโตด  กำทวด  มั่งลู่  สันยาส่า Emblic, Emblic myrobalan, Indian gooseberry, Malacca tree, Myrobalan

 

หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ

            1. การทดสอบความเป็นพิษ

            มีการศึกษาความเป็นพิษส่วนต่างๆ ของมะขามป้อม หลายรายงานดังนี้    

          สารสกัดผลด้วยเอทานอลและน้ำ  (1:1)  เมื่อป้อนให้กับหนูถีบจักร  ทางสายยางสู่กระเพาะอาหารในขนาด 100 ก./กก. พบว่าไม่ทำให้เกิดพิษ แต่หากฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูถีบจักร พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 4.8 ก./กก. (1)  และเมื่อฉีดสารสกัดใบหรือลำต้นด้วยเมทานอลกับน้ำ (1:1) เข้าทางช่องท้องหนูถีบจักรเพศผู้  มีค่า LD50เท่ากับ 750 มก./กก. และ 185 มก./กก. ตามลำดับ (2) นอกจากนี้เมื่อฉีดสารสกัดใบด้วยน้ำเข้าช่องท้องหนูถีบจักรเพศผู้และเพศเมีย ค่า LD50เท่ากับ 0.415 ก./กก. และ 0.288 ก./กก. ตามลำดับ และเมื่อทดสอบพิษกึ่งเฉียบพลันโดยให้กินสารสกัดขนาด 0.1 และ 0.5 ก./กก. 10 สัปดาห์ พบว่าไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของหนู แต่พบการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักอวัยวะภายใน ได้แก่ หัวใจ ปอด ตับ  และมีการเพิ่มของระดับ SGPT ในกระแสเลือด และเมื่อให้สารสกัดแก่หนูถีบจักรทางปากในขนาด 20 ก./กก. ไม่เกิดอาการพิษในสัตว์ทดลอง (3)  การทดลองพิษกึ่งเฉียบพลันของยาแผนโบราณตรีผลา (มีส่วนประกอบของสมุนไพร 3 ชนิด คือ ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย และลูกมะขามป้อม) ซึ่งอัตราส่วนของสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด จะแตกต่างกันตามกองสมุฏฐานโรค ในกรณีแก้ปิตตะสมุฏฐานสำหรับรักษาอาการป่วยด้วยธาตุไฟในฤดูร้อน อัตราส่วนของสมุนไพรจะเป็น 12:8:4 ส่วนตำรับแก้วาตะสมุฏฐานรักษาอาการป่วยด้วยธาตุลมในฤดูร้อน อัตราส่วนเท่ากับ 4:12:8 และตำรับแก้เสมหะสมุฎฐานรักษาอาการป่วยด้วยโรคธาตุในฤดูร้อน อัตราส่วนเท่ากับ 8:4:12 ซึ่งจากการทดสอบพิษกึ่งเฉียบพลันในหนูขาวพันธุ์วิสตาร์ โดยการป้อนสารสกัดด้วยน้ำในขนาด 0.36, 2.88 และ 23.04 ก./กก./วัน เป็นเวลา 10 วัน หรือคิดเป็น 1, 8 และ 64 เท่า ของขนาดที่ใช้ในคน พบว่าสารสกัดยาแผนโบราณตรีผลา ตำรับแก้วาตะและเสมหะสมุฏฐาน ทำให้หนูเกือบทุกกลุ่มมีน้ำหนักตัวในวันสุดท้ายที่ทำการทดลอง และการกินอาหารน้อยกว่ากลุ่มควบคุม ในขณะที่ตำรับแก้ปิตตะสมุฏฐานขนาดสูงในหนูเพศผู้มีน้ำหนักตัวในวันสุดท้ายน้อยกว่ากลุ่มควบคุม การตรวจค่าทางโลหิตวิทยาของหนูขาวพบว่าสารสกัดตำรับแก้วาตะสมุฏฐานทุกขนาดทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวในหนูเพศเมียลดลง แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับขนาดของสารสกัดที่ให้  ส่วนสารสกัดยาตรีผลา ตำรับแก้ปิตตะ และเสมหะสมุฏฐานไม่มีผลต่อค่าทางโลหิตวิทยาของหนูขาว พบการตรวจซีรั่มทางชีวเคมี พบว่าสารสกัดทุกตำรับในขนาดสูงทำให้ระดับโปรตีนรวม และ BUN ของหนูเพศผู้มีค่าน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ ในหนูเพศเมียสารสกัดตำรับแก้ปิตตะสมุฏฐานในขนาดสูงมีผลลดระดับโปรตีนรวม และ BUN เช่นกัน นอกจากนี้สารสกัดตรีผลาตำรับแก้ปิตตะและวาตะสมุฏฐานทุกขนาดทำให้ซีรั่มกลอบูลินในหนูเพศผู้ลดลงอย่างมีความสัมพันธ์กับขนาดที่ให้ ส่วนสารสกัดตำรับแก้เสมหะสมุฏฐานขนาด 2.88 และ 23.04 ก./กก./วัน  มีผลลดระดับซีรั่มกลอบูลินในเพศผู้ และสารสกัดตำรับแก้ปิตตะสมุฏฐานในขนาดเดียวกันมีผลลดระดับซีรั่มกลอบูลินในเพศเมียเช่นกัน หนูทั้งสองเพศที่ได้รับสารสกัดตรีผลา ตำรับแก้ปิตตะและเสมหะสมุฏฐานขนาด 23.04 ก./กก./วัน  มีค่าซีรั่มครีอาตินินต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษาทางจุลพยาธิวิทยาแสดงให้เห็นว่าตับและไตของหนูเพศเมียมีความไวต่อความเป็นพิษของสารสกัดมากกว่าหนูเพศผู้ โดยหนูเพศเมียที่ได้รับสารสกัดตำรับแก้ปิตตะสมุฏฐานในขนาด 23.04 ก./กก./วัน มีอัตราการเกิด fatty change ของตับและ nephrocalcinosis และ hydrocalyx สูงกว่าหนูกลุ่มควบคุม  ส่วนหนูทั้งสองเพศที่ได้รับสารสกัดตำรับแก้เสมหะสมุฏฐานพบว่าอัตราการเกิดพยาธิสภาพต่างๆ ของตับและไต  ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม ซึ่งพิษต่อตับหรือไตของสารตรีผลาอาจเนื่องมาจากสารแทนนินในสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด  ของตำรับนี้ (4)  สารสกัดยาตำรับตรีผลาด้วยน้ำ ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาดไม่เกิน 240 มก./กก. สังเกตอาการหลังจากนั้น 14 วัน ไม่พบพิษใดๆ ค่า LD50 เท่ากับ 280 มก./กก. ถ้าให้ขนาด 300 มก./กก. หนูถีบจักรจะตายทั้งหมด (5)  เมื่อฉีดสารสกัดยาตำรับ Abana ด้วยเอทานอล (มีมะขามป้อมเป็นส่วนประกอบ 10 มก.) เข้าช่องท้องหนูถีบจักร ในขนาดไม่เกิน 1.6 ก./กก. สังเกตอาการหลังจากการทดลอง 14 วัน ไม่พบความผิดปกติ แต่ถ้าเพิ่มขนาดเป็น 1.7, 1.8, 1.9 และ 2 ก./กก. จะทำให้หนูตาย 20, 50, 60 และ 80% ตามลำดับ และหนูจะตายทั้งหมด 100%  เมื่อได้รับสารสกัดขนาด 2.1 ก./กก. ค่า LD50 เท่ากับ 1.8 ก./กก. (6)

2. พิษต่อตับ

            มีรายงานว่าหญิงอายุ 26 ปี  รับประทานยาตำรับที่มีส่วนผสมของสารสกัดมะขามป้อม (Isabgol) ซึ่งใช้รักษาอาการท้องผูกเรื้อรัง แล้วมีผลทำให้เกิดความผิดปกติที่ตับ โดยเซลล์ตับมีขนาดใหญ่ขึ้นมากและอักเสบ (7)

3. พิษต่อเซลล์

            สารสกัดผลมะขามป้อมด้วยเอทานอลและน้ำ (1:1) ทำการทดสอบในจานเพาะเลี้ยงเชื้อต่อเซลล์มะเร็ง CA-9KB พบว่าไม่เป็นพิษต่อเซลล์ CA-9KB ซึ่งขนาดที่มีผลทำให้เกิดพิษกับเซลล์จำนวนครึ่งหนึ่ง (ED50) มีค่ามากกว่า 20 มคก./มล. (8) สารสกัดผลมะขามป้อมด้วยน้ำ เมทานอล ในความเข้มข้น 100 มคก./มล. ต่อเซลล์ Vero พบว่าไม่เป็นพิษต่อเซลล์ (9) นอกจากนี้สารสกัดผลด้วยเอทานอล มาทำให้เจือจางในอัตราส่วนตั้งแต่ 1:1 ถึง 1:1,000  ทำการทดสอบกับเซลล์เม็ดเลือดแดงของแกะ  พบว่าไม่เป็นพิษต่อเซลล์เม็ดเลือดแดงของแกะ (10)  และสารสกัดน้ำของผลมะขามป้อม  เมื่อทำการทดสอบกับ Cells-L929  พบว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์อย่างอ่อน โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 16.5 มคก./มล. (11)

            4. พิษต่อระบบสืบพันธุ์

            ยาตำรับซึ่งมีส่วนผสมของมะขามป้อม สมอไทยและสมอพิเภก เมื่อป้อนให้กับหนูขาวเพศเมียกิน พบว่ามีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อน 50% (12)

            5. ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์และต้านการก่อกลายพันธุ์

            สารสกัดผลด้วยอะซิโตน คลอโรฟอร์ม น้ำ (13) ด้วยความเข้มข้น 0.1 มล./จานเพาะเชื้อ (14) ทำการทดสอบในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ พบว่าสามารพต้านการก่อกลายพันธุ์ต่อเชื้อ Salmonella typhimurium TA97, TA100 ได้ ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์ด้วยสาร sodium azide และ NPD (4-nitro-O-phenylenediamine) และส่วนสกัด tannin เมื่อทำการทดลองในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ พบว่าสามารถต้านการก่อกลายพันธุ์ของเชื้อ Salmonella typhimurium TA100 ได้ (15) และสารสกัดผลด้วยน้ำเมื่อป้อนให้กับหนูถีบจักรที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติของโคโมโซมไขกระดูกด้วย Nickel ทางสายยางสู่กระเพาะอาหารในขนาด 10 มล./กก. (16) และขนาด 685 มก./กก. (17) พบว่าสารสกัดจากผลมะขามป้อมสามารถลดจำนวนการผิดปกติของโครโมโซมไขกระดูกได้ และสารสกัดน้ำของผลมะขามป้อมเมื่อป้อนให้กับหนูถีบจักรขนาด 685 มก./กก. เป็นเวลานาน 7 วัน จากนั้นฉีดอะลูมิเนียมและตะกั่วเข้าทางช่องท้องหนู เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติของโครโมโซมไขกระดูก พบว่าสารสกัดผลมะขามป้อมสามารถช่วยเพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์ไขกระดูก และลดความผิดปกติของโครโมโซม (18)

 

เอกสารอ้างอิง

1.      Mokkhasmit M, Swatdimongkol K, Satrawaha P.  Study on toxicity of Thai  medicinal plants.  Bull Dept Med Sci 1971;12(2/4):36-65.

2.      Nakanishi K, Sasaki SI, Kiang AK, et al.  Phytochemical survey of Malaysian plants.   Preliminary chemical and pharmacological screening.  Chem Pharm Bull 1965; 13(7):882-90.

3.      Itthipanichpong C, Ousavaplangchai L, Ramart S, Thamaree S, Tankeyoon M. Acute toxicity and subacute toxicity study of Phyllanthus emblica.  Chula Med J  1987;31(5):367-76.

4.      ปราณี ชวลิตธำรง เอมมนัส อัตตวิชญ์ พัช รักษามั่น ปราณี จันทเพ็ชร.  พิษกึ่งเฉียบพลันของยาแผนโบราณตรีผลา.  วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2539;38(3):170-1.

5.      Jagetia GC, Baliga MS, Malagi KJ, Sethukumar Kamath M.  The evaluation of the radioprotective effect of Triphala (an Ayurvedic rejuvenating drug) in the mice exposed to g-radiation.  Phytomedicine 2002;9:99-108.

6.      Chandra Jagetia G, Shrinath Baliga M, Aruna R, Rajanikant GK, Jain V.  Effect of Abana (a herbal preparation) on the radiation-induced mortality in mice.  J Ethnopharmacol 2003;86:159-65.

7.      Fraquelli M, Colli A, Cocciolo M, Conte D.  Adult syncytial giant cell chronic hepatitis due to herbal remedy.  J Hepatol 2000;33(3):505-8.

8.      George M, Pandalai KM.  Investigations of plant antibiotics. Part IV. Further search or antibiotic substances in Indian medicinal plants.  Indian J Med Res 1949;37:169-81.

9.      Hattori M, Nakabayashi T, Lim YA, et al.  Inhibitory effects of various ayurvedic and Panamanian medicinal plants on the infection of Herpes simplex virus-1 in vitro and in vivo.  Phytother Res 1995;9(4):270-6.

10.  Ahmad I, Mehimood Z, Mohammad F.  Screening of some Indian medicinal plants for their antimicrobial properties.  J Ethnopharmacol 1998;62(2):183-93.

11.  Jose JK, Kuttan G, Kuttan R.  Antitumour activity of Emblica officinalis.  J Ethnopharmacol 2001;75(2/3):65-9.

12.  Dhar SK, Gupta S, Chandhoken N.  Antifertility studies of some indigenous  plants.  Proc XI Ann Conf Indian Pharmacol Soc 1978;1978:1.

13.  Kaur S, Arora S, Kaur K, et al.  The in vitro antimutagenic activity of Triphala and Indian herbal drug.  Food Chem Toxical 2002;40(4):527-34.

14.  Grover IS, Kaur S.  Effect of Emblica officinalis Gaertn. (Indian gooseberry) fruit  extract on sodium azide and 4-nitro-O-phenylenediamine induced mutagenesis in Salmonella typhimurium.  Indian J Exp Biol 1989;27(3):207-9.

15.  Rani G, Bala S, Grover IS.  Antimutagenic studies of diethyl ether extract and tannin fractions of Emblica myroblan (Emblica officinalis Gaertn.) in Amesassay.  J Plant Sci Res 1994;10(1/4):1-4.

16.  Agarwa K, Dhir H, Sharma A, Taluker G.  The efficacy of two species of Phyllanthus  in counteracting nickel clastogenicity.  Fitoterapia 1992;63(1):49-54.

17.  Khir D, Agarwal K, Sharma A, Taluker G.  Modifying role of Phyllanthus emblica and ascorbic acid against nickel clastogencity in mice.  Cancer Lett 1991;59(1)9-18.

18.  Dhir SH, Roy AK, Sharma A, Taluker G.  Mofidication of clastogenicity of lead and aluminium in mouse bone marrow cells by dietary ingestion of Phyllanthus emblica fruit extract.  Mutat Res 1990;241(3):305-12.