สมุนไพรที่ใช้แก้ไอ

 

อาการไอ เป็นกลไกที่ดีอันหนึ่งของร่างกายในการขจัดสารที่ระคายเคืองทางเดินหายใจออกมา  การไอไม่ใช่โรค  แต่เป็นอาการของโรคชนิดหนึ่ง การไออาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. สาเหตุที่ไม่เกี่ยวกับโรคเอดส์ ได้แก่ การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ เกิดจากการได้รับควันต่าง ๆ และสารระคายเคือง การแพ้สิ่งต่างๆ หรือเนื้องอกที่ทางเดินหายใจ ความผิดปกติของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงระบบหายใจ (1)

2. สาเหตุที่เกี่ยวกับโรคเอดส์

    2.1 ปอดบวม สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบในคนปกติและคนที่ภูมิคุ้มกันเสียไป เช่น เชื้อไวรัส หรือโปรโตซัว ชื่อ นิวโมซิสติกคารินิไอ ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเอดส์ ทำให้เกิดอาการไอแห้ง มีไข้ต่ำ หอบและเหนื่อยมาก ซึ่งปอดบวมชนิดนี้สามารถรักษาให้หายได้และมียารับประทานเพื่อป้องกันและไม่ให้เกิดซ้ำ ยาที่ใช้คือ Bactrim ครั้งละ 1 เม็ด เช้า-เย็น หรือ Depsone วันละ 1 เม็ด

    2.2 วัณโรค เป็นสาเหตุสำคัญของอาการไอในผู้ป่วยเอดส์ จะมีอาการไอแห้ง ๆ บางครั้งมีเสมหะหรือเลือดปนออกมา มีไข้สูงในช่วงบ่ายและกลางคืน แต่ไม่ค่อยเหนื่อยหอบ ยาที่ใช้รักษา ใน 2 เดือนแรกให้ยา 4 ตัวพร้อมกัน ได้แก่ Isoniazid, Rifampicin, Etambutol และ Pyrazinamide อีก 4-6 เดือน ใช้ INH และ Rifampicin (2)

 

ลักษณะการไอ มี 2 ชนิด

1. ไอมีเสมหะ เกิดจากทางเดินหายใจหลั่งน้ำเมือกออกมามากผิดปกติกลายเป็นเสมหะติดอยู่ ซึ่งควรให้ยาประเภทขับเสมหะหรือละลายเสมหะในการรักษา ได้แก่ Bromhexine (Bisolvon®) 8 มก. 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง (3)

2. ไอแบบไม่มีเสมหะ เกิดจากมีสิ่งระคายเคืองอยู่ในทางเดินหายใจ ควรให้ยาระงับอาการไอในการรักษา ได้แก่ Dextromethrophan (Romilar®) 15 มก. 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง (3)

 

ประเภทของยาแก้ไอ

1. ยาระงับอาการไอ (antitussive) มีผลในการระงับอาการไอ แต่ไม่ได้แก้ที่สาเหตุ เพียงแต่ทำให้ไอน้อยลงนอนหลับพักผ่อนได้ดีขึ้น ลดอาการระคายคอ  ช่วยบรรเทาอาการเจ็บกล้ามเนื้อหน้าอกและท้องเนื่องจากอาการไอได้ ยาระงับอาการไอแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม

    1.1 ยาระงับอาการไอที่ออกฤทธิ์ที่สมองส่วนกลาง  ยาพวกนี้ออกฤทธิ์โดยไปกดศูนย์การไอ (cough center) ที่สมองส่วน medulla ยาประเภทนี้มีทั้งที่ใช้แล้วทำให้เกิดการเสพติดและไม่เสพติด 

         1.1.1 ยาระงับอาการไอประเภทที่ทำให้เกิดการเสพติดได้  เนื่องจากเป็นอนุพันธ์ของฝิ่น เช่น codiene, morphine ถ้าใช้ในขนาดสูงและติดต่อกันนานจะทำให้เสพติดได้  จึงไม่ควรใช้โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะยาพวกนี้จะไปกดศูนย์การหายใจและอาจทำให้เสพติดได้ หญิงมีครรภ์ ทารก คนชรา จึงควรระมัดระวังในการใช้

         1.1.2 ยาระงับอาการไอประเภทที่ไม่เสพติด ได้แก่ dextromethrophan (อนุพันธ์ของ morphine) แต่ยาชนิดนี้ไม่ควรใช้ในผู้ที่เป็นโรคหอบหืด เพราะยานี้จะทำให้ร่างกายหลั่งฮีสตามีนออกมามาก ในทารกและหญิงมีครรภ์ควรระวังเพราะยาในขนาดสูงๆ จะกดศูนย์การหายใจได้ noscarpine (สารสกัดจากฝิ่น), diphenhydramine (เป็นพวก antihistamine)  ยานี้ห้ามใช้ในคนที่เป็นต้อหินชนิดมุมเปิด หอบหืด และไม่ควรรับประทานร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง  

             1.2 ยาระงับอาการไอที่ออกฤทธิ์ที่ส่วนปลาย ได้แก่ ยาชาเฉพาะที่ ยาเคลือบ ยาชาเฉพาะที่จะออกฤทธิ์ยับยั้งการส่งกระแสประสาทที่ตัวรับความรู้สึกในระบบทางเดินหายใจ ส่วนยาเคลือบจะไปเคลือบที่ Pharyngeal mucosa ทำให้ทางเดินหายใจชุ่มชื้น ช่วยลดอาการระคายเคือง ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้ยาระงับอาการไอแบบไม่เสพติดมากกว่า

            2. ยาขับเสมหะ (expectorant) เป็นยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำเมือกในทางเดินหายใจมากขึ้น ได้แก่

    ammonium carbonate การใช้ควรระวังการใช้ในคนที่เป็นโรคหัวใจ ตับและไต

    ipecac syrup ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี และไม่ควรใช้นานเกิน 1 สัปดาห์

    terpin hydrate ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี  เพราะต้องละลายในอัลกอฮอล์ปริมาณสูง

    potassium iodide ถ้าใช้ไปเป็นเวลานานอาจทำให้เกิด iodism (เป็นไข้ พุพอง ปวดแสบปวดร้อนในปาก) ได้ 

3. ยาละลายเสมหะ (mucolytic) ออกฤทธิ์ละลายเสมหะโดยลดความข้นเหนียวของเสมหะ  มีหลายชนิด เช่น

    Bromhexine ออกฤทธิ์ละลายเสมหะโดยไปทำให้ acid mucopolysaccharide ในเสมหะให้แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ ทำให้ความเหนียวข้นของเสมหะลดลงและมีปริมาณเพิ่มทำให้บ้วนออกได้ง่าย แต่อาจทำให้ท้องเสีย ปวดศีรษะ ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารควรใช้ด้วยความระวัง

    Acetylcysteine ออกฤทธิ์โดยไปตัด disulfide bond ของ mucoprotein ของเสมหะเล็กลง แต่อาจทำให้หลอดลมบีบเกร็ง กระเพาะอาหารอักเสบ ควรใช้อย่างระวังในคนชราและคนเป็นหอบหืด

    Ambroxol เป็น metabolite ของ Bromhexine ออกฤทธิ์โดยเป็นตัวไปกระตุ้นการสร้าง surfactant ทำให้เสมหะมีความหนืดลดลง ไม่ควรใช้กับหญิงมีครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก และผู้เป็นโรคกระเพาะอาหารควรระวัง

            4. ยาอมระงับอาการไอ (antitussive lozenge) ประกอบด้วยยาระงับเชื้อ เพื่อระงับเชื้อในช่องปากและยาชาเฉพาะที่ โดยหวังผลให้หายเจ็บคอ  ยาอมเหล่านี้มักทำในรูปของ lozenge มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน  ซึ่งน้ำตาลจะช่วยให้ชุ่มคอ  เพราะมีคุณสมบัติดูดน้ำเข้าหาตัว  ทำให้มีน้ำมากขึ้น  จึงช่วยลดอาการระคายเคือง (1)

 

ลักษณะที่ต้องส่งปรึกษาแพทย์

1. ไอเรื้อรังกว่า 2 สัปดาห์

2. ไข้สูง เจ็บหน้าอก เหนื่อย หรือเสมหะมีเลือดหรือหนองปน

 

คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ มีดังต่อไปนี้ คือ

1. ควรจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ จะช่วยละลายเสมหะได้ดี

2. บรรเทาอาการไอโดยจิบน้ำมะนาวผสมเกลือ 

3. ในกรณีหายใจลำบาก ควรนอนหนุนหมอนสูงหรือให้นั่งพิงหมอนไว้โดยมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

4. ในกรณีหายใจแล้วเจ็บหน้าอกอาจกอดหมอนให้แน่นตรงที่เจ็บเวลาไอ   จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บได้

5. ไม่ควรกินยาระงับไอ แต่ให้ละลายและขับเสมหะแทน เพื่อให้เสมหะขับออกมาจากปอด ปอดจะได้สะอาด ไม่สะสมเชื้อโรค อาจให้ผู้ป่วยนอนคว่ำบนหมอนแล้วใช้ผ้าขนหนูวางบนหลังผู้ป่วย แล้วใช้ฝ่ามือเคาะหลัง (เคาะปอด) เบา ๆ เพื่อช่วยขับเสมหะออกจากปอด

6. ควรให้ผู้ป่วยเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น เดิน ลุกนั่ง พลิกตัว เพื่อกระตุ้นการทำงานของปอด

7. ควรอยู่ในที่ๆ มีอากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่คนแออัด มีฝุ่นละอองมาก หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยโรคติดเชื้อต่างๆ

8. ควรปิดปากทุกครั้งที่ไอ กำจัดเสมหะอย่างถูกต้อง ไม่บ้วนเรี่ยราด (3)

 

เอกสารอ้างอิง

1.      บุญเทียม คงศักดิ์ตระกูล ยุวดี วงษ์กระจ่าง.  ระบบทางเดินหายใจ (The Respiratory System).  กรุงเทพฯ: ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2541:95 หน้า.

2.      ดวงสมร พันธุเสน วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ อังคณา สริยาภรณ์ โสภา เธียรวิจิตร.  คู่มือการดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์โดยครอบครัวและชุมชน.  กรุงเทพฯ:บริษัทสำนักพิมพ์สุภาจำกัด 2528:106หน้า.

3.      http://www.aidsaccess.com.  Available access 14/01/2003.