พิษต่อเซลล์มะเร็งของสารสกัดจากใบส้มโอ

เมื่อนำสารสกัดเฮกเซน, คลอโรฟอร์ม, เอทิลอะซีเตท, บิวทานอล และน้ำจากใบส้มโอ ความเข้มข้น 50, 100, 200 มคก./มล. ทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง 5 ชนิด ได้แก่ เซลล์มะเร็งปอด NCI-H460, เซลล์มะเร็ง neuroblastoma SK-N-H460, เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ HCT-15, เซลล์มะเร็งปากมดลูก Hela และเซลล์มะเร็งเต้านม MCF-7 พบว่าสารสกัดคลอโรฟอร์มมีฤทธิ์ดีที่สุด โดยมีค่า IC50 ต่อเซลล์มะเร็งทั้ง 5 ชนิด เท่ากับ 81.18, 129.56, 114.94, 56.54 และ 176.93 มคก./มล ตามลำดับ แต่ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ปกติของปอด สารสกัดคลอโรฟอร์ม ความเข้มข้น 50, 100, 150, 200 มคก./มล. เหนี่ยวนำให้เกิดการตายแบบ apoptosis ของเซลล์มะเร็ง Hela โดยทำให้เกิดการแตกหักของ DNA (DNA fragmentation) และยับยั้งการแสดงออกของยีน Bcl-2 ซึ่งมีผลกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ caspase และการสลายตัวของโปรตีน poly (ADP-ribose) polymerase (PARP) เมื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมี พบว่าสารสำคัญประกอบด้วยสารในกลุ่ม polymethoxylated flavones ได้แก่ isosinensetin, sinensetin, tetramethyl-o-isoscutellarein, nobiletin, tangeretin และ 5-hydroxy-6,7,8-3′,4′-pentamethoxyflavone แสดงว่าสาร polymethoxylated flavones ในใบส้มโออาจมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ในการรักษามะเร็งได้

Food Chem Toxicol 2010;48:2435-42.