ผลของครีมดอกเลี่ยนต่อโรคผิวหนังในเด็ก

การทดสอบครีมที่ประกอบด้วยสารสกัดด้วยเมทานอลจากดอกเลี่ยน 10% ในผู้ป่วยเด็กอายุไม่เกิน 10 ปี ที่เป็นโรคผิวหนังจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย แบ่งเป็นแผลขนาด 105 – 150 ตร.ม. และ 450 – 600 ตร.ม. เปรียบเทียบกับยาปฏิชีวนะนีโอมัยซิน และยาหลอก ผู้ป่วยทั้งหมด 105 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่มๆละ 35 คน เป็นกลุ่มที่รักษาด้วยครีมดอกเลี่ยน กลุ่มที่รักษาด้วยยานีโอมัยซิน และกลุ่มที่รักษาด้วยยาหลอก ทุกกลุ่มทายาวันละ 2 ครั้ง นาน 15 วัน จากการตรวจผู้ป่วยส่วนใหญ่มีแผลติดเชื้อจาก Staphylococcus aureus   มีบางรายตรวจพบ Escherichia coli, Streptococcus   spp. และ Klebsiella   spp. ด้วย การติดเชื้อมีลักษณะทั้ง cellulitis ฝีหนองเรื้อรัง และติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ผลการรักษาพบว่าแผลในกลุ่มที่ใช้ครีมดอกเลี่ยน (แผลขนาดเล็กหาย 100% จำนวน 15 คน แผลขนาดใหญ่หาย 100% จำนวน 12 คน แผลขนาดใหญ่หาย 75% จำนวน 5 คน แผลขนาดใหญ่หาย 50% จำนวน 3 คน) และยานีโอมัยซิน (แผลขนาดเล็กหาย 100% จำนวน 15 คน แผลขนาดใหญ่หาย 100% จำนวน 12 คน แผลขนาดใหญ่หาย 75% จำนวน 5 คน แผลขนาดใหญ่รักษาไม่หาย จำนวน 3 คน) จะหายดีกว่ายาหลอก (แผลขนาดเล็กหาย 100% จำนวน 10 คน แผลขนาดใหญ่หาย 100% จำนวน 11 คน แผลขนาดใหญ่หาย 20% จำนวน 7 คน แผลขนาดใหญ่รักษาไม่หาย จำนวน 7 คน) และกลุ่มที่ได้รับครีมดอกเลี่ยนและยานีโอมัยซินมีผลการรักษาไม่แตกต่างกัน แสดงว่าครีมดอกเลี่ยนมีศักยภาพในการรักษาโรคผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียในเด็กได้ดีพอๆกับยานีโอมัยซิน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อนำครีมดอกเลี่ยน ยานีโอมัยซิน ยาหลอก และสารสกัดด้วยเมทานอลจากดอกเลี่ยน ไปทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบในหลอดทดลอง ไม่พบฤทธิ์ต้านเชื้อของครีมและยาหลอก แต่สารสกัดและยานีโอมัยซินมีฤทธิ์ต้านเชื้อ ดังนั้น การหายของโรคผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียของครีมดอกเลี่ยนจากการทดลองทางคลินิก อาจจะเนื่องจากการออกฤทธิ์อื่นๆของครีมมากกว่าฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย

Phytomedicine 2008;15:231-6